"The beautiful Thing About Learning Is Nobody Can Take It Away From You - สิ่งที่วิเศษสุดสำหรับการเรียนรู้ คือไม่มีใครสามารถเอามันไปจากคุณได้"
B.B. King(บี.บี. คิง)

ความบกพร่องทางการได้ยินในเด็ก

ปัญหาความบกพร่องทางการได้ยินในเด็กส่งผลต่อการเรียนรู้และพัฒนาการด้านสื่อสารของเด็ก รวมถึงมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเด็กในระยะยาวได้ ปัญหาการได้ยินส่วนใหญ่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นหรืออาการรุนแรงมากขึ้นหากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เนิ่นๆ ดังนั้นหากผู้ปกครองสงสัยว่าเด็กอาจมีปัญหาด้านการได้ยินควรรีบพาเด็กมาพบแพทย์

กระบวนการการได้ยิน

ร่างกายมีระบบการได้ยินอยู่ 2 ระบบ คือระบบกลไกและระบบประสาท เริ่มต้นจากเสียงเข้ามาในช่องหู เมื่อสัมผัสกับแก้วหูจะทำให้แก้วหูมีการสั่นสะเทือน หลังจากนั้นแก้วหูจะส่งสัญญาณการสั่นสะเทือนไปยังกระดูกเล็กๆ 3 ชิ้น ได้แก่ กระดูกค้อน กระดูกทั่งและกระดูกโกลน และประสาทรับเสียงในหูชั้นใน ตามลำดับ ซึ่งหูชั้นในมีลักษณะเป็นแอ่งน้ำที่มีเส้นประสาทลอยอยู่ เมื่อมีการสั่นกระเพื่อมผ่านน้ำเข้าไปทำให้เส้นประสาทที่ลอยอยู่ในน้ำเกิดการขยับตัว เปลี่ยนสัญญาณการสั่นให้เป็นสัญญาณไฟฟ้าส่งผ่านเส้นประสาทไปยังสมองเพื่อแปรเป็นข้อมูล

สาเหตุของการสูญเสียการได้ยิน

แพทย์จะวิเคราะห์สาเหตุของการสูญเสียการได้ยินตามกายวิภาคของหู ปกติหูของเรามีอยู่ 3 ชั้น คือหูชั้นนอก เริ่มตั้งแต่ช่องหูไปจนถึงแก้วหู ถัดมาคือหูชั้นกลางหรือส่วนที่ถัดจากแก้วหูซึ่งมีท่อระบายอากาศต่อจากจมูก ต่อจากหูชั้นกลางคือหูชั้นในซึ่งเป็นเรื่องของระบบประสาท สาเหตุของการสูญเสียการได้ยินสามารถเกิดได้จากหูทั้ง 3 ชั้น

หูชั้นนอก ที่พบบ่อยในเด็กคือขี้หูอุดตัน ทำให้เด็กได้ยินไม่ชัด หรือมีความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น รูหูหรือใบหูไม่มี ตีบแคบหรือผิดรูป

หูชั้นกลาง ที่พบบ่อยในเด็กคือภาวะน้ำขังในหูชั้นกลาง มักสัมพันธ์กับการเป็นหวัดเพราะจมูกกับหูชั้นกลางจะเชื่อมต่อกัน ดังนั้นเมื่อเด็กเป็นหวัดแล้วอาการไม่ดีขึ้น น้ำมูกที่อยู่ในจมูกอาจค้างในหูชั้นกลางทำให้การได้ยินลดลงได้

หูชั้นใน อาจเกิดแต่กำเนิดหรือเป็นภายหลัง เช่น การติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์หรืออาจเกิดจากหูชั้นกลางอักเสบ

อาการที่สังเกตได้

ผู้ปกครองสามารถสังเกตการเปลี่ยนแปลงของเด็กได้ โดยเด็กอาจมีการถามซ้ำๆ เปิดโทรทัศน์เสียงดัง ไม่ตอบสนองต่อเสียงของบางคน อาจมีอาการซุ่มซ่ามเพราะมีอาการมึนงง มีอาการเป็นหวัดเรื้อรัง

ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัย

แพทย์จะเริ่มจากการถามอาการของเด็กจากผู้ปกครองเพื่อเป็นข้อมูลทางประวัติ หลังจากนั้นแพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อหาความผิดปกติของหู เช่น ช่องหูตีบแคบหรือมีขี้หูอุดตันหรือไม่ มีการคั่งค้างของน้ำมูกที่แก้วหูหรือไม่ เป็นต้น

สำหรับเด็กโตพอที่ให้ความร่วมมือในการตรวจ แพทย์อาจจะตรวจด้วยส้อมเสียง(Tuning Fork) ซึ่งเป็นการตรวจการได้ยินของหูทั้งสองข้างเทียบเคียงกันแบบคร่าวๆ นอกจากนี้แพทย์ยังอาจส่งตรวจการได้ยินโดยเฉพาะ โดยมีนักตรวจการได้ยิน(Audiologist) เป็นผู้ทำการตรวจเพื่อช่วยให้ทราบว่าเด็กได้ยินในระดับความดังเท่าไรเมื่อเทียบกับคนปกติทั่วไป

ส่วนเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3-4 ปี แพทย์จะใช้วิธีการตรวจ 2 รูปแบบคือ

- OAE(Otoacoustic Emission) วัดคลื่นเสียงที่สะท้อนกลับออกมาจากช่องหูว่ามีในระดับที่เหมาะสมหรือไม่ ปัจจุบันมีการใช้วิธีนี้เพื่อตรวจคัดกรองเด็กแรกเกิดทุกราย

- ABR(Auditory Brain Stem Response) เป็นการปล่อยเสียงในช่องหูเป็นระยะเพื่อตรวจการตอบสนองของคลื่นไฟฟ้าในเส้นประสาทหูและก้านสมอง

การรักษาและการป้องกัน

เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กมีปัญหาประสาทหูเสื่อมตั้งแต่กำเนิด คู่สมรสควรตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานและหากครอบครัวมีประวัติเรื่องประสาทหูเสื่อม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการมีบุตรและควรฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ

หากเด็กมีปัญหาเรื่องประสาทหูเสื่อม แพทย์จะให้ใช้เครื่องช่วยฟังเพราะการใส่เครื่องช่วยฟังตั้งแต่เนิ่นๆหรือเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ตั้งแต่เริ่มทราบว่าเด็กมีปัญหาการได้ยินจะทำให้พัฒนาการทางภาษาหรือการสื่อสารของเด็กดีขึ้น โดยสามารถเริ่มใส่เครื่องช่วยฟังได้ตั้งแต่เด็กอายุ 6 เดือน แต่ในบางกรณีที่เด็กไม่สามารถใช้เครื่องช่วยฟัง แพทย์อาจใช้วิธีผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมแทน

ปัญหาการได้ยินในเด็กที่พบได้บ่อยคือปัญหาจากน้ำในหูชั้นกลาง ดังนั้นหากเด็กเป็นหวัดและอาการหวัดไม่ดีขึ้นภายใน 5-7 วัน ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอาการเพิ่มเติม นอกจากนี้เด็กที่มีอาการภูมิแพ้ทำให้เป็นหวัดได้บ่อยกว่าคนปกติและมีผลต่อเนื่อง เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ผู้ปกครองควรดูแลเด็กให้มีสุขภาพแข็งแรง หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้หรือใช้ยาควบคุมอาการภูมิแพ้ ปัญหาจากน้ำในหูชั้นกลางเป็นปัญหาซึ่งวินิจฉัยได้ยาก ดังนั้นหากเด็กมีปัญหาเรื่องการได้ยิน ผู้ปกครองควรรีบนำมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง

นอกจากนี้แพทย์ยังแนะนำว่า ไม่ควรใช้ก้านสำลี(Cotton Bud) ในการทำความสะอาดใบหูเพราะขี้หูเป็นเหมือนขี้ผึ้งที่เคลือบใบหู ช่วยป้องกันน้ำ สิ่งสกปรกและการระคายเคืองจากภายนอก ดังนั้นหากเราไปเช็ดออกอาจทำให้เกิดการอักเสบ ติดเชื้อได้ง่ายและการใช้ก้านสำลีทำความสะอาดหูอาจทำให้ผิวหนังรอบรูหูชั้นนอกอักเสบได้

 

ความรู้อื่นๆ ที่น่าสนใจ

7 ข้อแนะนำสำหรับขาแรงก่อนลงแข่งขันวิ่งระยะไกล

7 ข้อแนะนำเตรียมความพร้อมก่อนเข้าร่วมการแข่งขันวิ่งระยะไกล เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้าแข่งขัน

อริสโตเติล

นักธรรมชาติวิทยาคนแรกของโลก

วิลเลี่ยม ฮาร์วี่

นายแพทย์ชาวอังกฤษผู้ใช้เวลากว่า 10 ปีในการศึกษาระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกายว่าทำงานอย่างไร

ภาวะ "คลอดก่อนกำหนด"

เนื่องจากภาวะคลอดก่อนกำหนดจะทำให้ร่างกายของเด็กที่คลอดออกมายังไม่พร้อมต่อการเผชิญสภาพแวดล้อมภายนอก จึงต้องมีการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกงูกัด

เมื่อถูกงูกัด ควรตั้งสติให้ดีและปฐมพยาบาลให้ถูกต้อง เพื่อให้พิษส่งผลกระทบกับผูถูกกัดน้อยที่สุด และสามารถนำส่งแพทย์ได้ทัน

ทำอย่างไร...ห่างไกลสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อมนั้นถือว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ภาวะปกติของผู้สูงอายุ สาเหตุเกิดจากลักษณะการใช้ชีวิตในแต่ละวันของคนเราว่าจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้หรือไม่ จึงควรรู้ถึงสาเหตุและวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสมองเสื่อม