"ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์"
พระราชดำรัสของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกงูกัด

วิกฤตน้ำท่วมในขณะนี้ นอกจากเรื่องน้ำแล้ว ยังมีสัตว์เลื้อยคลานที่ใครเห็นแล้วอดขนหัวลุกไม่ได้ นั่นคือ "งู"

หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่า เมื่อถูกงูกัดจะรู้ว่างูนั้นมีพิษหรือไม่ ให้สังเกตที่รอยเขี้ยว ถ้างูไม่มีพิษ รอยฟันบนผิวหนังจะเรียงเป็นแถว แต่ถ้าเป็นงูพิษจะมีรอยเขี้ยว 2 จุดชัดเจน หรือมีเลือดซึมออกจากแผล และบริเวณรอบๆ รอยเขี้ยวมีสีคล้ำหรืออาจพองเป็นถุงน้ำ ซึ่งพิษของงูจะส่งผลต่อร่างกาย แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

1. พิษต่อระบบประสาท(Neurotoxin) ได้แก่ งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม และงูทับสมิงคลา อาการเริ่มจากแขนไม่มีแรง กระวนกระวาย ลิ้นเกร็ง พูดจาอ้อแอ้ ตามัว น้ำลายฟูมปาก เนื่องจากกล้ามเนื้อการกลืนเป็นอัมพาต หยุดหายใจ และเสียชีวิตในที่สุด

2. พิษต่อระบบการแข็งตัวของเลือด(Hematotoxin) ได้แก่ งูเขียวหางไหม้ งูแมวเซา และงูกะปะ อาการ เริ่มจากปวดแผลมาก มีเลือดซึมออกจากแผล เลือดออกจากอวัยวะต่างๆ เช่น เลือดกำเดา เหงือก ไอ อาเจียน ปัสสาวะและอุจจาระเป็นเลือด เกิดจากภาวะระบบไหลเวียนล้มเหลว และตายในที่สุด

3. พิษต่อกล้ามเนื้อ(Mytotoxin) ซึ่งมักจะไม่พบในภาวะน้ำท่วม เนื่องจากเป็นงูทะเล

แต่ไม่ว่าจะถูกงูมีพิษประเภทใดกัด สิ่งแรกคือ ตั้งสติให้ดี อย่าตกใจ พยายามเคลื่อนไหวร่างกายให้น้อยที่สุด เพราะจะส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ พลอยให้พิษงูถูกสูบฉีดแล่นเข้าสู่หัวใจได้เร็วขึ้น ซึ่งอาการของพิษงูจะเริ่มแผ่ซ่านตั้งแต่ 15-30 นาที หรืออาจนานถึง 9 ชั่วโมง จึงต้องเฝ้าสังเกตอาการอย่างต่อเนื่อง จากนั้นจึงทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดย

1. ล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ ไม่ควรใช้เหล้า ยาสีฟัน ขี้เถ้าทาแผล หรือสมุนไพรใดๆ

2. บีบเลือดออกจากแผลให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ควรใช้ปากดูดหรือเปิดปากแผลด้วยของมีคม

3. การรัด ควรรัดเหนือและใต้บาดแผลประมาณ 3 นิ้วมือ ไม่ควรรัดเหนือบาดแผลให้แน่นมากเพราะจะทำให้อวัยวะส่วนปลายขาดเลือดและเน่าตาย ควรคลายความแน่นพอสอดนิ้วมือได้ 1 นิ้ว จุดประสงค์เพื่อให้อวัยวะนั้นอยู่นิ่ง ไม่ใช่เป็นการห้ามพิษเข้าสู่หัวใจตามที่คนส่วนใหญ่เข้าใจไม่ถูกต้อง

4. ใช้ผ้าสะอาดห้ามเลือดด้วยการกดแผลโดยตรง ถ้าสามารถใช้แอลกอฮอล์หรือเบต้าดีนทาแผลได้ก็จะเป็นผลดีต่อการทำลายเชื้อโรคต่างๆ

5. พยายามเคลื่อนไหวร่างกายให้น้อยที่สุด เพราะหากเคลื่อนไหวมากจะทำให้พิษของงูเข้าสู่กระแสเลือดเร็วขึ้น

6. วางอวัยวะส่วนนั้นให้ต่ำกว่าหรือระดับเดียวกับหัวใจ

7. รับประทานยาแก้ปวดหากรู้สึกปวด แต่ห้ามใช้ยาที่มีฤทธิ์แอลกอฮอล์ ยาระงับประสาท ยานอนหลับ ยาดองเหล้า เป็นต้น

8. รีบนำผู้ป่วยส่งสถานพยาบาลใกล้บ้าน ไม่จำเป็นต้องนำซากงูมาให้แพทย์ตรวจดูว่าเป็นงูประเภทใด เนื่องจากอาจจับได้ในบริเวณใกล้เคียงซึ่งไม่ใช่เป็นตัวที่กัด ปัจจุบันใช้การดูรอยกัดและลักษณะแผลเพื่อกำหนดการใช้เซรุ่มต้านพิษงูฉีดให้เหมาะสม

9. ให้ระลึกเสมอว่างูที่กัดทุกตัวเป็นงูมีพิษ

 

ความรู้อื่นๆ ที่น่าสนใจ

7 ข้อแนะนำสำหรับขาแรงก่อนลงแข่งขันวิ่งระยะไกล

7 ข้อแนะนำเตรียมความพร้อมก่อนเข้าร่วมการแข่งขันวิ่งระยะไกล เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้าแข่งขัน

อริสโตเติล

นักธรรมชาติวิทยาคนแรกของโลก

วิลเลี่ยม ฮาร์วี่

นายแพทย์ชาวอังกฤษผู้ใช้เวลากว่า 10 ปีในการศึกษาระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกายว่าทำงานอย่างไร

ภาวะ "คลอดก่อนกำหนด"

เนื่องจากภาวะคลอดก่อนกำหนดจะทำให้ร่างกายของเด็กที่คลอดออกมายังไม่พร้อมต่อการเผชิญสภาพแวดล้อมภายนอก จึงต้องมีการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ

ทำอย่างไร...ห่างไกลสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อมนั้นถือว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ภาวะปกติของผู้สูงอายุ สาเหตุเกิดจากลักษณะการใช้ชีวิตในแต่ละวันของคนเราว่าจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้หรือไม่ จึงควรรู้ถึงสาเหตุและวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสมองเสื่อม