"การใช้จ่ายอย่างประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเอง และครอบครัว ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ที่ประหยัดเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย"
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก "พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน"

พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม
พระบรมราชชนก

วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระองค์ทรงเป็นบุคคลสำคัญยิ่งที่ประชาชนชาวไทยและชาวต่างประเทศต้องน้อมรำลึกถึง เนื่องจากพระองค์ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมืองในฐานะที่ทรงเป็น ผู้สนับสนุนและสนพระทัยในการศึกษาและวิจัยทางการแพทย์แผนปัจจุบัน จนพระเกียรติคุณของพระองค์ท่านแผ่ไพศาลไปในนานาประเทศ

นอกจากนี้ พระองค์ยังได้พระราชทานพระราชโอรสไว้เป็นศรีแห่งพระบรมราชวงศ์จักรีถึง ๒ พระองค์ด้วยกัน คือ พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๘ และพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ ซึ่งทั้ง ๒ พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่และเป็นที่รักของพสกนิกรชาวไทย

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ ๕) และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี (พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๘ และพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙) ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๓๔

พระองค์มีพระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช หรือมีพระนามที่เรียกกันในหมู่พระประยูรญาติว่า ทูลกระหม่อมแดง

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ ๗) ทรงสถาปนาพระยศเป็นสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์

และหลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงสถาปนาพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชบิดา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ออกไปศึกษาในต่างประเทศ

ในชั้นต้นได้เสด็จไปทรงศึกษาระดับมัธยมที่โรงเรียนแฮร์โรว์ ประเทศอังกฤษ

เมื่อจบการศึกษาแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พระองค์ศึกษาวิชาทหารที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก ประเทศเยอรมนี

หลังจากที่ทรงศึกษาวิชาทหารไปได้สักระยะหนึ่ง พระองค์ทรงพบว่าไม่โปรดวิชาทหาร และทรงมีพระราชประสงค์จะเปลี่ยนไปศึกษาวิชาด้านช่างเขียนและวิจิตรศิลป์ แต่ก็มิได้เป็นไปตามพระราชประสงค์ เนื่องจากทรงสอบไล่วิชาทหารบกได้คะแนนสูงสุด พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ ๖) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์ทรงย้ายไปเข้าโรงเรียนนายเรือเยอรมัน

แม้ว่าพระองค์ไม่ทรงโปรดวิชาการทหาร และทรงประชวรหลายครั้งระหว่างการศึกษา แต่ก็มิได้ทรงย่อท้อ ด้วยทรงมีพระอุปนิสัยมานะพยายาม ทรงเอาพระทัยใส่ในการศึกษาเต็มพระปรีชาสามารถ ทำให้การสิ่งใดที่ทรงตั้งพระทัยไว้มักจะสัมฤทธิผลดังพระราชประสงค์เสมอ

เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาแล้ว ทรงมีพระราชประสงค์จะเข้ารับราชการในกองทัพเรือเยอรมัน แต่พอดีเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เสด็จกลับประเทศไทย และเข้ารับราชการในกองทัพเรือ ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจด้วยความตั้งพระทัยยิ่ง พระองค์ทรงรับราชการในกองทัพเรือประมาณ ๘ - ๙ เดือน ก็ทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตลาออกจากราชการ ด้วยสาเหตุเนื่องจากทรงมีพระประสงค์จะเป็นผู้บังคับการเรือตอร์ปิโด และได้ทรงออกทะเลบ่อยๆ แต่ทางกองทัพเรือเห็นว่า ทรงเป็นพระราชวงศ์ชั้นสูงมิสมควรที่จะต้องเสด็จลงเรือรบออกทะเลบ่อยๆ จึงจัดให้พระองค์เป็นพระอาจารย์สอนนักเรียนและทรงงานในสำนักงาน ทำให้เสียพระทัยอย่างมาก

ประกอบกับทรงมีพระราชดำริเรื่องนโยบายจัดกองทัพเรือต่างจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกองทัพเรือ คือ ทรงเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศเล็ก ขณะนั้นยังไม่มีฐานทัพเรือและอู่เรือขนาดใหญ่ จึงควรใช้เรือเล็กๆ ที่เข้าแม่น้ำได้สะดวก เช่น เรือตอร์ปิโดและเรือดำน้ำ แทนที่จะใช้เรือรบขนาดใหญ่ตามความเห็นของฝ่ายผู้ใหญ่ในกองทัพเรือ

เมื่อพระราชดำริไม่ได้รับการตอบสนองทรงรู้สึกน้อยพระทัยอย่างมาก ทำให้เป็นสาเหตุหนึ่งที่พระองค์ทรงตัดสินพระทัยสละอาชีพทหารเรือที่ทรงศึกษามา

หลังจากที่มิได้ไปทรงงานที่กระทรวงทหารเรือแล้ว พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร พระเชษฐาที่ทรงคุ้นเคยกันมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ซึ่งขณะนั้นทรงเป็นผู้บังคับบัญชาโรงเรียนราชแพทยาลัย ได้ทรงเชิญเสด็จไปทอดพระเนตรโรงพยาบาลศิริราช หนังสือ ประวัติและวิวัฒนาการ ศิริราชร้อยปี ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิมพ์ ได้บันทึกเรื่องที่สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงเข้ามาเกี่ยวข้องกับวงการแพทย์ไว้ว่า

"ในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นไชยนาทนเรนทร และหม่อมเจ้าพูนศรีเกษม เกษมศรี ได้เชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์มาทอดพระเนตรศิริราช เสด็จในกรมฯ นำเสด็จทอดพระเนตรโรงคนไข้ซึ่งเป็นเรือนไม้หลังคาจากมีที่ไม่พอรับคนไข้ มีคนรออยู่ตามโคนต้นไม้ อุปกรณ์การรักษาพยาบาลขาดแคลน โรงเรียนแพทย์มีเครื่องมือในการเรียนไม่เพียงพอ แล้วกราบทูลวิงวอนให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงช่วยจัดการการศึกษาแพทย์ เสด็จในกรมฯ ได้กราบทูลเหตุผลที่ทรงทำเช่นนั้นว่า เพราะสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ ทรงเป็นเจ้าฟ้าชั้นสูง ถ้าเข้ามาทรงจัดการเรื่องนี้แล้วจะทำให้กิจการแพทย์เด่นขึ้น มีผู้โดยเสด็จช่วยเหลืองานนี้มากขึ้น อนึ่งทูลกระหม่อมทรงมีรายได้สูง แต่พอพระทัยจะใช้ในการบำเพ็ญพระกุศลสาธารณะ และประการสำคัญที่สุด ทรงเป็นเจ้าฟ้าที่มีพระปัญญาหลักแหลม มีความเพียรกล้า จะทรงทำอะไรก็ทำจริงไม่ย่อท้อ กิจการแพทย์จะเจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว ถ้าสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ทรงตกลงพระทัยที่จะจัดการเรื่องการแพทย์

ทูลกระหม่อมฯ มิได้ทรงตอบรับในทันที โดยทรงอ้างว่าพระองค์ท่านมิใช่แพทย์ แต่ในที่สุดก็ตกลงพระทัยจะทรงงานในการปรับปรุงการแพทย์ของประเทศไทย โดยเสด็จไปทรงศึกษาแพทย์เสียก่อน

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์จึงกราบบังคมลาไปทรงศึกษาวิชาแพทย์ในประเทศสหรัฐอเมริกาในปีต่อมา และได้พระราชทานทุนส่วนพระองค์ให้นักเรียนแพทย์ ๒ คน คือ นายนิตย์ เปาเวทย์ และนายลิ ศรีพยัตต์ ไปเรียนแพทย์ต่อในสหรัฐอเมริกา

พร้อมกับขอพระราชทานทุนเสด็จพระบรมราชเทวีให้ พยาบาล ๒ คน คือ นางสาวสังวาล ตะละภัฏ และนางสาวอุบล ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ไปศึกษาวิชาพยาบาลในสหรัฐอเมริกา

เหตุการณ์นี้เป็นนิมิตหมายของรุ่งอรุณแห่งความเจริญของการแพทย์ของประเทศไทย และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล"

พระองค์ได้ทรงเข้าศึกษาวิชาเตรียมแพทย์ที่โรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด หลังจากทรงเรียนวิชาแพทย์ไปได้ครึ่งหนึ่งของหลักสูตรแล้ว ก็ทรงเปลี่ยนไปเรียนวิชาสาธารณสุขซึ่งจะทรงเรียนจบได้เร็วกว่าวิชาแพทย์ที่มีหลักสูตรนานกว่า

และขณะที่ทรงประทับอยู่ที่สหรัฐอเมริกา พระองค์ทรงสนพระทัยในการเรียนและความเป็นอยู่ของนักเรียนไทยมาก แม้แต่ในเรื่องของสุขภาพ ความประพฤติ และความสามัคคี ทรงส่งเสริมให้จัดตั้งสมาคมสยาม ณ สหรัฐอเมริกา ในพระราชอุปถัมภ์ ที่เมืองบอสตัน มักทรงกำชับให้นักเรียนไทยตั้งใจเรียน เล่นกีฬา รู้จักคบหาเพื่อน และช่วยงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม สิ่งหนึ่งที่ทรงเตือนนักเรียนไทยอยู่เสมอคือ ให้อยู่ด้วยความประหยัด เป็นพลเมืองที่ดี ให้นึกถึงการรับใช้ประเทศชาติและประชาชน

พระองค์มิได้ทรงดูแลเพียงแค่นักเรียนทุนส่วนพระองค์เท่านั้น แต่ทรงดูแลนักเรียนทุนจากกระทรวงต่างๆ หรือนักเรียนทุนส่วนตัวด้วย จนนักเรียนไทยขนานพระนามว่า ทูลกระหม่อม เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นศูนย์กลางของนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา เป็นสถานที่ที่ใครๆ ต่างมุ่งหน้ามาหา

ด้วยพระพักตร์ พระอิริยาบถ พระราชดำรัส และพระอัธยาศัย อันเป็นพระมหากรุณาธิคุณของทูลกระหม่อม ชวนให้ผู้จากบ้านมาไกลรู้สึกอบอุ่นและปลื้มปิติที่ได้อยู่ใกล้พระองค์ และทำให้วิถีชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

และยิ่งไปกว่านั้นพระองค์ทรงเปลี่ยนวิถีชีวิตของสุภาพสตรีสาวผู้หนึ่ง คือนางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ นักเรียนพยาบาลผู้เพิ่งมาถึงบอสตัน เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๖๑ เนื่องจากเป็นผู้ที่ได้ทรงเลือกเป็นคู่ชีวิตของพระองค์ในเวลาหลังจากนั้นไม่นาน

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานใน พิธีอภิเษกสมรสของสมเด็จพระบรมราชชนก และ นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ ณ วังสระปทุม เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๓ หลังจากนั้นทั้งสองพระองค์ ได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อจนได้รับประกาศนียบัตรการสาธารณสุข ในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ ก็เสด็จกลับประเทศไทย

ระหว่างที่ทรงเดินทางผ่านทางยุโรป รัฐบาลไทยได้แต่งตั้งให้พระองค์ทรงเป็นผู้แทนเพื่อเจรจากับมูลนิธิรอกกี เฟลเลอร์ เกี่ยวกับการช่วยปรับปรุงโรงเรียนแพทย์ ทำให้ต้องเสด็จไปประชุมตามเมืองต่างๆ ในยุโรป

ด้วยพระปรีชาสามารถและทรงเสียสละความสุขและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อร่วมมือกับมูลนิธินี้ พระองค์ก็ทรงชนะจิตใจเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิตกลงยินยอมให้ความช่วยเหลือการแพทย์ของเมืองไทย

เมื่อเสด็จกลับประเทศไทยแล้ว ทรงรับตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ก็ไม่ทรงทิ้งเจตนาเดิมเรื่องการปรับปรุงโรงเรียนแพทย์ เพื่อจะได้แพทย์ที่มีคุณภาพดี การทรงงานของพระองค์มีปัญหาบ้าง เนื่องจากที่พระองค์ไม่ใช่แพทย์และไม่มีความรู้ด้านแพทย์โดยตรง ก็ทรงแก้ปัญหานั้นด้วยการเสด็จไปเรียนวิชาแพทย์เสียเอง เพื่อสร้างความเจริญให้แก่การแพทย์ของไทยตามที่ทรงตั้งปณิธานไว้ โดยทรงเสด็จไปศึกษาในคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา ทรงอุทิศพระวรกายให้แก่การศึกษาอย่างเต็มที่ จนโรคพระวักกะพิการแต่เดิมนั้นกำเริบอีกครั้ง เมื่อถึงใกล้สอบไล่ขั้นสุดท้ายทรงประชวรโรคไส้ติ่งอักเสบจึงต้องผ่าตัด แต่ก็ทรงสอบได้ในระดับเกียรตินิยม

เมื่อเสด็จกลับประเทศไทยอีกครั้ง ทรงตั้งพระทัยจะเสด็จไปฝึกงานเป็นแพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลศิริราช แต่การนี้ไม่สำเร็จด้วยพระอิสริยยศของพระองค์เป็นอุปสรรค จึงตัดสินพระทัยเสด็จไปทรงงานที่โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ ทรงประทับกับหมอคอร์ต ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ต่อมาทรงตั้งพระทัยหาบ้านไว้ให้เหมาะก่อนแล้วจึงจะให้ครอบครัวของพระองค์ตามไป

ทรงทำหน้าที่แพทย์ได้เพียง ๒๑ วัน ก็ต้องเสด็จกลับกรุงเทพฯ เนื่องจากทรงประชวร ต้องประทับรักษาพระวรกายอยู่ที่วังสระปทุม แพทย์ผู้ชำนาญทั้งไทยและต่างประเทศได้พยายามรักษาอย่างสุดความสามารถตลอดระยะเวลา ๔ เดือน ถึงแม้ว่าพระหฤทัยจะเข้มแข็งและมุ่งมั่น แต่พระวรกายต่อสู้กับพระโรคไม่ไหว พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๔๗๒ สิริรวมพระชนมายุเพียง ๓๗ พรรษา หลังจากนั้นในวงการแพทย์และผู้ที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณได้พร้อมใจกันเฉลิมพระเกียรติให้พระองค์เป็น

"พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบัน" ของไทย

 

ความรู้อื่นๆ ที่น่าสนใจ

7 ข้อแนะนำสำหรับขาแรงก่อนลงแข่งขันวิ่งระยะไกล

7 ข้อแนะนำเตรียมความพร้อมก่อนเข้าร่วมการแข่งขันวิ่งระยะไกล เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้าแข่งขัน

อริสโตเติล

นักธรรมชาติวิทยาคนแรกของโลก

วิลเลี่ยม ฮาร์วี่

นายแพทย์ชาวอังกฤษผู้ใช้เวลากว่า 10 ปีในการศึกษาระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกายว่าทำงานอย่างไร

ภาวะ "คลอดก่อนกำหนด"

เนื่องจากภาวะคลอดก่อนกำหนดจะทำให้ร่างกายของเด็กที่คลอดออกมายังไม่พร้อมต่อการเผชิญสภาพแวดล้อมภายนอก จึงต้องมีการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกงูกัด

เมื่อถูกงูกัด ควรตั้งสติให้ดีและปฐมพยาบาลให้ถูกต้อง เพื่อให้พิษส่งผลกระทบกับผูถูกกัดน้อยที่สุด และสามารถนำส่งแพทย์ได้ทัน

ทำอย่างไร...ห่างไกลสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อมนั้นถือว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ภาวะปกติของผู้สูงอายุ สาเหตุเกิดจากลักษณะการใช้ชีวิตในแต่ละวันของคนเราว่าจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้หรือไม่ จึงควรรู้ถึงสาเหตุและวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสมองเสื่อม