"สัจจวาจา นั้นเป็นรากฐานของการทำงาน หรือการดำรงชีวิตที่ดีที่งามที่มีความก้าวหน้า มีความสำเร็จ "สัจ" เป็นการตั้งใจ ตั้งจิตใจ "วาจา" เป็นคำพูดออกมา แสดงถึงคำพูดนั้นต้องออกมาจากใจ คือเป็นการตั้งใจที่จะทำอะไรเพื่อความสำเร็จในงานนั้น"
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

6 คำถามน่ารู้เกี่ยวกับ "การนอน"

การนอนหลับคืออะไร

การนอนหลับเป็นสภาวะหนึ่งของร่างกายที่การเคลื่อนไหวและการรับรู้ต่อโลกภายนอกลดลงจนเกือบหมด แต่ก็สามารถที่จะตื่นกลับมารู้ตัวได้ง่ายภายใน 1-2 นาที นักวิทยาศาสตร์ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าทำไมเราจึงต้องนอนด้วย แต่เชื่อแน่ว่า การนอนหลับเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญสำหรับชีวิต ทุกคนจะรู้สึกสดชื่น มีเรี่ยวมีแรงหลังจากได้นอนเต็มอิ่ม นั่นคือการนอนหลับได้ทำหน้าที่โดยสมบูรณ์แล้ว

วงจรการนอนหลับจะแบ่งออกได้เป็น 2 วงจรด้วยกันโดยจะเกิดสลับกันไปในแต่ละคืน วงจรแรกเรียกว่า NREM Sleep(Non-Rapid Eye Movement Sleep) และวงจรที่สองเรียกว่า REM Sleep(Rapid Eye Movement Sleep) วงจร NREM เป็นวงจรที่เกี่ยวกับการหลับที่จะลึกลงไปเรื่อยๆ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ตั้งแต่หลับตื้นไปจนถึงหลับลึก ส่วนวงจร REM เป็นวงจรที่กล้ามเนื้อต่างๆ ของร่างกายแทบจะหยุดการทำงานทั้งหมด ยกเว้น หัวใจ กระบังลมเพื่อการหายใจ กล้ามเนื้อตา และกล้ามเนื้อเรียบ เช่น หลอดเลือดและลำไส้ ความฝันเกิดขึ้นเป็นเรื่องเป็นราวในวงจร REM การนอนหลับของเราเริ่มด้วยวงจร NREM ก่อนแล้วจึงเกิดวงจร REM สลับกันไปเรื่อยๆ โดยในครึ่งคืนแรกมักจะเป็นวงจร NREM เป็นส่วนใหญ่ ส่วนครึ่งคืนหลังมักเป็น REM ดังนั้นเราจึงมักพบว่าเราฝันบ่อยตอนเช้ามืด

ทำไมคนเราต้องนอนหลับด้วย

คำตอบที่ง่ายที่สุดก็คงเป็นเพราะ เราง่วง และเราคงทำอะไรไม่ได้ถ้าเรายังคงง่วงต่อไปมากขึ้นเรื่อยๆ แต่คำตอบในทางวิทยาศาสตร์นั้น ยังไม่รู้ว่าทำไมคนเราถึงต้องนอน แต่แน่นอนที่สุดก็คือ การนอนมีความจำเป็นต่อชีวิตอย่างมาก เคยมีการทดลองในหนู พบว่าถ้าทำให้หนูอดนอนต่อเนื่องกันตลอดเวลา จะเสียชีวิตภายใน 1-2 สัปดาห์

การนอนของเรานั้นถูกกำหนดให้เกิดขึ้นจากระบบการทำงานของร่างกายระบบหนึ่ง เรียกได้ว่ามีนาฬิกาอยู่เรือนหนึ่งภายในร่างกายที่เป็นตัวบอกว่าเมื่อไหร่จะถึงเวลาตื่นและเมื่อไหร่จะถึงเวลาหลับ แสงแดดเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อนาฬิกาเรือนนี้อย่างมากซึ่งทำให้มนุษย์ตื่นมาทำกิจกรรมต่างๆ ในตอนกลางวันและนอนหลับในตอนกลางคืน ถ้าเมื่อใดนาฬิกาในร่างกายทำงานไม่สอดคล้องกับแสงสว่างบนโลก เราจะต้องใช้เวลาหลายวันในการปรับตัว เช่นหากเราเดินทางจากเมืองไทยไปนครนิวยอร์กที่อเมริกา นาฬิกาในร่างกายจะบอกว่าเป็นกลางคืน ทั้งๆ ที่เวลาที่นิวยอร์กขณะนั้นเป็นเวลากลางวันทำให้เรารู้สึกเพลียและต้องการการปรับตัว อาการนี้เป็นอาการที่เรียกกันว่า Jet Lag

ควรนอนหลับแค่ไหนถึงจะเรียกว่าพอดี

จริงๆ แล้วไม่มีคำตอบเป็นจำนวนชั่วโมงที่ตายตัวลงไปว่าเราต้องนอนกันคืนละกี่ชั่วโมงจึงเรียกว่าเพียงพอ จำนวนชั่วโมงเหล่านี้จะมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละคน กรรมพันธุ์อาจมีส่วนเกี่ยวข้องได้ด้วย แต่ถ้าพูดถึงช่วงเฉลี่ยแล้ว อาจกล่าวได้ว่า จำนวนชั่วโมงของการนอนหลับในผู้ใหญ่ประมาณ 6-9 ชั่วโมง ซึ่งอาจพบแตกต่างจากนี้ได้ เช่น บางคนนอน 5 ชั่วโมงก็รู้สึกสดชื่นแล้ว แต่บางคนอาจต้องการถึง 10 ชั่วโมงจึงจะสดชื่น ฉะนั้นจำนวนชั่วโมงว่าจะนอนนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับว่า เมื่อเราตื่นขึ้นมาแล้วเราจะรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า สามารถทำงานได้ตลอดวันหรือไม่ต่างหาก

จริงหรือเปล่าที่ว่า เมื่อแก่ตัวลงความต้องการนอนหลับจะน้อยลงไปด้วย

เรื่องนี้คงไม่จริง จากการศึกษาพบว่า เมื่อนับจำนวนชั่วโมงการนอนหลับของคนสูงอายุไม่ว่าจะเป็นตอนกลางคืนหรือการงีบหลับตอนกลางวันใน 1 วัน จะพอๆ กับจำนวนชั่วโมงของคนวัยผู้ใหญ่ทั่วๆ ไป แต่ประสิทธิภาพการนอนต่างหากที่ลดลงในคนสูงอายุ คนสูงอายุจะหลับได้ไม่ค่อยลึก และมักจะหลับๆ ตื่นๆ ซึ่งอาจเป็นจากวัย หรือมีโรคทางกายที่รบกวนการนอน ทำให้รู้สึกเพลียเหมือนหลับไม่เต็มอิ่ม ดังนั้นโดยสรุปก็คือ คนสูงอายุยังคงต้องการการนอนหลับเท่าเดิม แต่คุณภาพการนอนต่างหากที่ลดลงเมื่อเทียบกับวัยผู้ใหญ่

ถ้าไม่เคยนอนฝันเลยจะผิดปกติหรือไม่

การนอนแล้วไม่ฝันเป็นเรื่องที่ไม่ผิดปกติ ถ้าเพียงเพราะว่าคุณรู้สึกว่าไม่เคยนอนฝัน จากการศึกษาพบว่าทุกคนจะฝันเสมอในแต่ละคืน แต่คนส่วนหนึ่งจะจำเนื้อหาความฝันไม่ได้ จึงเข้าใจว่าตนเองไม่ได้ฝัน วงจรการนอนหลับจะเริ่มต้นด้วย NREM สลับกับ REM ไปเรื่อยๆ ประมาณ 5-6 รอบอย่างนี้เสมอในแต่ละคืน และการฝันของคนเราจะเกิดขึ้นในช่วงวงจร REM ในห้องปฏิบัติการการนอนหลับนั้น แม้แต่คนที่บอกว่าไม่เคยฝันเลย ก็จะจำความฝันของตนเองได้อย่างชัดเจน เป็นเรื่องเป็นราว เมื่อถูกปลุกให้ตื่นในขณะที่วงจร REM ทำงาน

คนนอนตื่นสาย ขี้เกียจจริงหรือ

ไม่แน่เสมอไป แต่ที่มักจะเข้าใจกันคือ การนอนดึกทำให้ตื่นสาย จริงๆ แล้วการทำงานของนาฬิกาในร่างกายมีส่วนกำหนดว่าใครจะเป็นคนที่นอนหัวค่ำตื่นเช้าหรือนอนดึกตื่นสาย มีคนกลุ่มหนึ่งที่วงจรการนอนถูกกำหนดให้เริ่มเกิดขึ้นดึกกว่าคนอื่นๆ ในขณะที่จำนวนชั่วโมงการนอนนั้นเท่ากับคนทั่วไป ผลคือ คนๆ นั้นจะนอนตื่นสายมาก อาจเริ่มง่วงประมาณตี 3 หรือตี 4 แล้วตื่นนอนประมาณ 11 โมงเช้า จึงถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเภท "นกฮูก" คือหัวสมองแจ่มใสมากในตอนกลางคืน แต่กลับง่วงหรือคิดอะไรไม่ค่อยออกในตอนกลางวัน

วงจรการนอนหลับโดยธรรมชาติของวัยรุ่นมีแนวโน้มมากที่จะคล้ายกับคนกลุ่มนี้คือ จะเริ่มง่วงเมื่อดึกและตื่นนอนเมื่อสาย ถ้ามีเรียนหรือกิจกรรมในตอนเช้า(โดยเฉพาะวัยรุ่นในกรุงเทพที่ต้องตื่นเช้าเพื่อเดินทาง) จะมีผลทำให้นอนไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายสะสมไปเรื่อยๆ โดยจะสังเกตได้ว่าวัยรุ่นเหล่านี้ จะนอนตื่นสายมากในวันที่ไม่ต้องไปเรียนหรือมีกิจกรรมต้องทำเพื่อชดเชยการนอนที่ขาดหายไปตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

ความรู้อื่นๆ ที่น่าสนใจ

7 ข้อแนะนำสำหรับขาแรงก่อนลงแข่งขันวิ่งระยะไกล

7 ข้อแนะนำเตรียมความพร้อมก่อนเข้าร่วมการแข่งขันวิ่งระยะไกล เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้าแข่งขัน

อริสโตเติล

นักธรรมชาติวิทยาคนแรกของโลก

วิลเลี่ยม ฮาร์วี่

นายแพทย์ชาวอังกฤษผู้ใช้เวลากว่า 10 ปีในการศึกษาระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกายว่าทำงานอย่างไร

ภาวะ "คลอดก่อนกำหนด"

เนื่องจากภาวะคลอดก่อนกำหนดจะทำให้ร่างกายของเด็กที่คลอดออกมายังไม่พร้อมต่อการเผชิญสภาพแวดล้อมภายนอก จึงต้องมีการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกงูกัด

เมื่อถูกงูกัด ควรตั้งสติให้ดีและปฐมพยาบาลให้ถูกต้อง เพื่อให้พิษส่งผลกระทบกับผูถูกกัดน้อยที่สุด และสามารถนำส่งแพทย์ได้ทัน

ทำอย่างไร...ห่างไกลสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อมนั้นถือว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ภาวะปกติของผู้สูงอายุ สาเหตุเกิดจากลักษณะการใช้ชีวิตในแต่ละวันของคนเราว่าจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้หรือไม่ จึงควรรู้ถึงสาเหตุและวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสมองเสื่อม