"สัจจวาจา นั้นเป็นรากฐานของการทำงาน หรือการดำรงชีวิตที่ดีที่งามที่มีความก้าวหน้า มีความสำเร็จ "สัจ" เป็นการตั้งใจ ตั้งจิตใจ "วาจา" เป็นคำพูดออกมา แสดงถึงคำพูดนั้นต้องออกมาจากใจ คือเป็นการตั้งใจที่จะทำอะไรเพื่อความสำเร็จในงานนั้น"
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

การตรวจเต้านมด้วยอัลตราซาวด์ กับแมมโมแกรมต่างกันอย่างไร

การตรวจโรคของเต้านม

เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับเต้านม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเจ็บเต้านม มีก้อนที่เต้านม มีแผลที่หัวนม หรือมีน้ำไหลจากหัวนม มักจะต้องพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยว่าจะมีความผิดปกติในเต้านมหรือไม่ หรือแม้แต่ในคนที่ปกติ แต่เมื่อมีความเสี่ยงที่จะมีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น เช่น อายุมากขึ้น แพทย์ก็จะแนะนำให้ทำการตรวจเต้านม เพราะหากสามารถพบความผิดปกติของเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มแรก การรักษาต่างๆ ก็จะไม่ยุ่งยาก และได้ผลดี

วิธีการตรวจหาความผิดปกติของเต้านม แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 3 กลุ่มคือ

1. การตรวจเต้านมด้วยการคลำ สุภาพสตรีทุกท่านสามารถคลำเต้านมตนเองได้ และ หากไม่แน่ใจ ให้แพทย์เป็นผู้คลำเต้านมเพื่อประเมินความผิดปกติ ซึ่งอาจพบก้อนที่เต้านมหรือต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ หรืออาจพบจุดกดเจ็บที่เต้านม

2. การตรวจทางรังสี โดยใช้เครื่องแมมโมแกรม(Mammogram) หรือ อัลตราซาวด์(Ultrasound)

3. การใช้เข็มเจาะก้อนที่เต้านม เพื่อนำเซลล์ของเต้านม หรือเนื้อเยื่อเต้านมส่งตรวจทางพยาธิวิทยา

การตรวจแมมโมแกรม(Mammogram)

การตรวจแมมโมแกรมเป็นการตรวจทางรังสีชนิดหนึ่งคล้ายกับการเอกซเรย์ แต่เครื่องตรวจแมมโมแกรมจะเป็นเครื่องเฉพาะที่ใช้ปริมาณรังสีน้อยกว่าเครื่องเอกซเรย์ทั่วไป แต่มีความสามารถในการตรวจที่ละเอียดกว่ามาก โดยทั่วไปการตรวจแมมโมแกรมจะฉายรูปเต้านมข้างละ 2 รูป โดยการบีบเนื้อนมเข้าหากัน และถ่ายรูปจากด้านบนและด้านข้างอย่างละหนึ่งรูป ในกรณีที่พบจุดสงสัยอาจมีการถ่ายรูปเพิ่มหรือขยายรูปเพื่อให้เกิดความชัดเจน

สิ่งที่แมมโมแกรมสามารถตรวจพบและดีกว่าการตรวจวิธีอื่นคือ สามารถเห็นจุดหินปูนในเต้านม ซึ่งในบางครั้งมะเร็งเต้านมอาจมีขนาดเล็กมาก คลำก็ไม่พบ ตรวจอัลตราซาวด์ก็ไม่พบ แต่สามารถตรวจพบได้เฉพาะในการตรวจแมมโมแกรมเท่านั้น ดังนั้น แมมโมแกรมจึงมีประโยชน์ในการตรวจหามะเร็งเต้านมขนาดเล็ก

การตรวจอัลตราซาวด์(Ultrasound)

การตรวจอัลตราซาวด์เป็นการตรวจโดยการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปในเนื้อเต้านม เมื่อคลื่นเสียงกระทบกับเนื้อเยื่อต่างๆ จะสะท้อนกลับมาที่เครื่องตรวจ ซึ่งจะตรวจจับความแตกต่างของเนื้อเยื่อได้คล้ายกับการตรวจด้วยเรดาร์ ทำให้สามารถแยกเนื้อเยื่อเต้านมปกติกับก้อนในเต้านมได้ นอกจากนี้ ยังสามารถบอกได้ว่าก้อนที่พบในเนื้อเต้านมนั้น มีองค์ประกอบเป็นน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อ ในกรณีที่เป็นน้ำก็ค่อนข้างจะสบายใจได้เพราะไม่เหมือนมะเร็ง แต่หากเป็นก้อนเนื้อ อัลตราซาวด์จะช่วยบอกว่าก้อนเนื้อนั้นมีโอกาสจะเป็นเนื้อร้ายหรือไม่

การตรวจด้วยแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์มีข้อดีคนละอย่าง บางครั้งการตรวจอย่างใดอย่างหนึ่งจะได้ประโยชน์มากกว่า แต่บางครั้งการตรวจทั้ง 2 อย่างก็จะช่วยเสริมให้การวินิจฉัยโรคได้ดีขึ้น

การตรวจแมมโมแกรม จะมีประโยชน์มากในการตรวจหามะเร็งเต้านมขนาดเล็ก เพราะสามารถตรวจได้ตั้งแต่ยังคลำก้อนไม่พบ แต่ประโยชน์นี้จะใช้ได้ดีในคนที่เริ่มสูงอายุ(มากกว่า 40 ปี) ซึ่งเนื้อเต้านมไม่หนาแน่นมาก การตรวจแมมโมแกรมจะเห็นรายละเอียดได้มาก แต่ในคนอายุน้อยจะแปลผลแมมโมแกรมยาก และในกรณีที่พบก้อนก็ไม่สามารถบอกได้ว่าก้อนนั้นเป็นน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อ

ส่วนการตรวจอัลตราซาวด์ ถึงแม้ว่าจะสามารถตรวจหาจุดหินปูน ซึ่งเป็นสัญญาณของมะเร็งเต้านมแต่จะสู้การใช้แมมโมแกรมไม่ได้ แต่กีมีข้อเด่นคือสามารถใช้ในคนอายุน้อย อีกทั้งยังสามารถช่วยวินิจฉัยว่าก้อนต่างๆในเต้านมเป็นน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อ ทำให้การวางแผนการรักษาเป็นไปได้ง่ายขึ้น

เลือกตรวจวิธีไหนดี

การจะเลือกตรวจด้วยวิธีใดนั้น แพทย์ผู้รักษาจะใช้อาการและสิ่งที่ตรวจพบจากการตรวจร่างกายเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการวางแผนสำหรับการตรวจต่อไป แต่ในภาวะที่ไม่มีโรคหรือความผิดปกติใดๆเลย แนะนำว่า สุภาพสตรีที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ควรตรวจแมมโมแกรม ปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจเช็คหามะเร็งเต้านม

 

ความรู้อื่นๆ ที่น่าสนใจ

7 ข้อแนะนำสำหรับขาแรงก่อนลงแข่งขันวิ่งระยะไกล

7 ข้อแนะนำเตรียมความพร้อมก่อนเข้าร่วมการแข่งขันวิ่งระยะไกล เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้าแข่งขัน

อริสโตเติล

นักธรรมชาติวิทยาคนแรกของโลก

วิลเลี่ยม ฮาร์วี่

นายแพทย์ชาวอังกฤษผู้ใช้เวลากว่า 10 ปีในการศึกษาระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกายว่าทำงานอย่างไร

ภาวะ "คลอดก่อนกำหนด"

เนื่องจากภาวะคลอดก่อนกำหนดจะทำให้ร่างกายของเด็กที่คลอดออกมายังไม่พร้อมต่อการเผชิญสภาพแวดล้อมภายนอก จึงต้องมีการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกงูกัด

เมื่อถูกงูกัด ควรตั้งสติให้ดีและปฐมพยาบาลให้ถูกต้อง เพื่อให้พิษส่งผลกระทบกับผูถูกกัดน้อยที่สุด และสามารถนำส่งแพทย์ได้ทัน

ทำอย่างไร...ห่างไกลสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อมนั้นถือว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ภาวะปกติของผู้สูงอายุ สาเหตุเกิดจากลักษณะการใช้ชีวิตในแต่ละวันของคนเราว่าจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้หรือไม่ จึงควรรู้ถึงสาเหตุและวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสมองเสื่อม