"การใช้จ่ายอย่างประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเอง และครอบครัว ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ที่ประหยัดเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย"
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคมะเร็ง

หลายปีที่ผ่านมามีข่าวการสูญเสียบุคคลสำคัญในสังคมอยู่เป็นระยะ โดยสาเหตุหนึ่งที่นับวันเราจะได้ยินบ่อยและดูใกล้ตัวมากนั่นคือโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นปัญหาการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทยมามากกว่าสิบปี ทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่ได้รับการตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำ ซึ่งกว่าจะรู้ตัวว่าเป็นโรคมะเร็งก็มีอาการผิดปกติปรากฏขึ้นแล้ว

กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้ว่า คนไทยเสียชีวิตจากโรคนี้เป็นอันดับหนึ่ง โดยเฉลี่ยปีละประมาณ 60,000 คน ซึ่งมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักเป็นประเภทที่คร่าชีวิตผู้ป่วยเพศชายมากที่สุด(16.2%) และในเพศหญิงเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมมากที่สุด(37.5%)

ในความเป็นจริงแล้วมะเร็งเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากมีการตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ดังนั้นแพทย์จึงแนะนำให้ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยง ซึ่งปัจจุบันการตรวจสุขภาพเป็นเรื่องง่าย ใช้เวลาไม่นาน แต่ผลที่ได้ช่วยให้เราติดตามสุขภาพของตัวเองอย่างใกล้ชิด คุ้มค่ากับเวลาเพียงเล็กน้อยที่เสียไป

ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับโรคมะเร็ง

มะเร็ง คืออะไร

มะเร็งเป็นโรคที่สามารถพบได้ในผู้ป่วยทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่โดยส่วนใหญ่จะพบในผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก และจะพบได้สูงในผู้ป่วยที่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป

"มะเร็ง" หรือทางการแพทย์เรียกว่า "เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย" เป็นกลุ่มโรคที่เกี่ยวข้องกับการเจริญของเซลล์ที่มีความผิดปกติ คือ เซลล์จะแบ่งตัวและเจริญอย่างควบคุมไม่ได้ ก่อเป็นเนื้อร้าย และรุกรานไปยังอวัยวะส่วนข้างเคียง หรือแพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายที่อยู่ห่างไกล ผ่านระบบน้ำเหลืองหรือกระแสเลือด

เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงต่างจากมะเร็ง(เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย) อย่างไร

ไม่ใช่ว่าเนื้องอกทุกชนิดจะต้องเป็นมะเร็ง "เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง"(Benign tumor) เป็นเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง เพราะเซลล์ของเนื้องอกชนิดนี้จะแบ่งตัวช้า และไม่ค่อยมีการแทรกตัวเข้าไประหว่างเซลล์ปกติ ไม่ค่อยมีการทำลายเซลล์ปกติใกล้เคียง และไม่สามารถแทรกตัวทะลุเข้าไปในหลอดน้ำเหลืองและหลอดเลือดได้ จึงทำให้ไม่มีโอกาสที่เซลล์เนื้องอกจะแพร่กระจายไปเติบโตเป็นก้อนเนื้อที่อวัยวะส่วนอื่นที่อยู่ไกลออกไปได้ เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงสามารถผ่าตัดรักษาให้หายขาดได้

ป้องกันมะเร็งได้อย่างไร

ผลการวิจัยจากทั่วโลกยืนยันตรงกันว่าโรคมะเร็งร้อยละ 60 สามารถป้องกันได้ โดยการ:

- ตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี

- ตรวจเต้านมด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรม

- ฉีดวัคซีนป้องกันในมะเร็งบางประเภท

- ไม่สูบบุหรี่หรือยาเส้น

- ไม่ดื่มสุรา

- ไม่สำส่อนทางเพศ

- ปกป้องตัวเองจากแสงแดดจัด

- รับประทานอาหารที่ช่วยต้านมะเร็ง

- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเน้นอาหารจากพืชมากขึ้นทั้งผักและผลไม้ เลือกรับประทานอาหารที่ไม่ผ่านการขัดสีให้มากขึ้น

- ไม่รับประทานอาหารที่ผ่านกรรมวิธีที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เช่น อาหารปิ้งย่างและรมควัน

- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของการเกิดโรคมะเร็ง

- มีพันธุกรรมผิดปกติ เป็นได้ทั้งพันธุกรรมที่ถ่ายทอดได้ หรือ พันธุกรรมชนิดไม่ถ่ายทอด

- สูบบุหรี่

- ดื่มสุรา

- ขาดสารอาหาร

- ขาดการกินผัก และผลไม้

- กินอาหารไขมัน และ/หรือ เนื้อแดงสูงต่อเนื่อง เป็นประจำ

- การสูดดมสารพิษบางชนิดเรื้อรัง เช่น สารพิษในควันบุหรี่(สารก่อมะเร็ง หรือ สัมผัสสารก่อมะเร็ง อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปริมาณสูง)

- ร่างกายได้รับโลหะหนักเรื้อรังจาก การหายใจ อาหาร และ/หรือ น้ำดื่ม เช่น สารปรอท

- ติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัส เอชไอวี(HIV) ไวรัส เอชพีวี(HPV)

- ติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด เช่น เชื้อเอชไพโลริในกระเพาะอาหาร(โรคติดเชื้อเอชไพโลไร)

- ติดเชื้อพยาธิบางชนิด เช่น พยาธิใบไม้ตับ

- การใช้ยาฮอร์โมนเพศต่อเนื่อง

- อายุมาก เพราะเซลล์ผู้สูงอายุมีการเสื่อม และการซ่อมแซมต่อเนื่อง จึงเป็นสาเหตุให้เซลล์กลายพันธุ์ไปเป็นเซลล์มะเร็งได้

สัญญาณเตือนว่าโรคมะเร็งกำลังมาเยือน

ร่างกายของมนุษย์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน คุณต้องหมั่นสังเกตและตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ทันทีที่รู้ว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกาย นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าโรคร้ายอย่างมะเร็งกำลังมาเยือน และสิ่งที่ดีที่สุดในการปัองกันไม่ให้ปัญหาเล็กๆ ลุกลามกลายเป็นเรื่องใหญ่และสายเกินกว่าจะรักษา คือการรีบไปพบแพทย์ทันทีเมื่อเกิดอาการดังต่อไปนี้

- มีก้อนเนื้อโตเร็วหรือมีแผลเรื้อรัง และไม่หายภายใน 1-2 สัปดาห์ หลังจากการดูแลตนเองในเบื้องต้น

- มีต่อมน้ำเหลืองโต มักคลำเจอก้อนแข็งและขนาดโตขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่มีอาการเจ็บ

- ไฝ ปาน หูด ที่โตเร็วผิดปกติหรือเป็นแผลแตก

- ลมหายใจมีกลิ่น หรือ มีกลิ่นปากรุนแรงจากที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

- เลือดกำเดาออกเรื้อรัง มักออกเพียงข้างเดียว ในบางกรณีก็อาจจะออกทั้งสองข้างได้

- ไอเรื้อรัง หรือ ไอเป็นเลือด

- มีเสมหะ หรือ น้ำลายปนเลือดบ่อย

- อาเจียนเป็นเลือด

- ปัสสาวะเป็นเลือด

- ปัสสาวะบ่อย ขัดลำ ปัสสาวะเล็ด โดยไม่เคยเป็นมาก่อน

- อุจจาระเป็นเลือด มูก หรือ เป็นมูกเลือด

- ท้องผูก สลับท้องเสีย โดยไม่เคยเป็นมาก่อน

- มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ

- มีประจำเดือนผิดปกติ

- มีเลือดออกทางช่องคลอดในวัยหมดประจำเดือน

- ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นอึดอัดท้อง โดยไม่เคยเป็นมาก่อน

- มีไข้ต่ำๆ หาสาเหตุไม่ได้

- มีไข้สูงบ่อย หาสาเหตุไม่ได้

- น้ำหนักลดลงมากใน 6 เดือน(ตั้งแต่ 10% ขึ้นไปของน้ำหนักตัวเดิม)

- มีจ้ำห้อเลือดง่าย หรือ มีจุดแดงคล้ายไข้เลือดออกตามผิวหนังบ่อย

- ปวดศีรษะรุนแรงเรื้อรัง หรือ แขน/ขาอ่อนแรง

- ชักโดยไม่เคยชักมาก่อน

- ปวดหลังเรื้อรังและปวดมากขึ้นเรื่อยๆ อาจร่วมกับอาการแขน/ขาอ่อนแรง

โรคมะเร็งมีกี่ระยะ

โดยทั่วไปโรคมะเร็งมี 4 ระยะ ซึ่งทั้ง 4 ระยะ อาจแบ่งย่อยได้อีกเป็น เอ(A) บี(B) หรือ ซี(C) หรือเป็น หนึ่ง หรือ สอง เพื่อแพทย์โรคมะเร็งใช้ช่วยประเมินการรักษา ส่วนโรคมะเร็งระยะศูนย์(0) ยังไม่จัดเป็นโรคมะเร็งอย่างแท้จริง เพราะเซลล์แค่เริ่มมีลักษณะเป็นมะเร็งแต่ยังไม่มีการรุกราน(Invasive) เข้าเนื้อเยื่อข้างเคียง

ระยะที่ 1: ก้อนเนื้อ หรือ แผลมะเร็งมีขนาดเล็ก และยังไม่ลุกลาม

ระยะที่ 2: ก้อนเนื้อ หรือ แผลมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามภายในเนื้อเยื่อหรืออวัยวะ

ระยะที่ 3: ก้อนเนื้อ หรือ แผลมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มลุกลามเข้าเนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียง และลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่เป็นมะเร็ง

ระยะที่ 4: ก้อนเนื้อ หรือ แผลมะเร็งมีขนาดโตมาก และ/หรือ ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียง จนทะลุ และ/หรือ เข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ก้อนมะเร็ง โดยพบต่อมน้ำเหลืองโตคลำได้ และ/หรือ มีหลายต่อม และ/หรือ แพร่กระจายเข้ากระแสโลหิต และ/หรือ หลอดน้ำเหลืองหรือกระแสน้ำเหลือง ไปยังเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่อยู่ไกลออกไป เช่น ปอด ตับ สมอง กระดูก ไขกระดูก ต่อมหมวกไต ต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง ในช่องอก และ/หรือ ต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้า

วิธีรักษาโรคมะเร็งทำได้อย่างไร

ในปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็งมีหลายวิธี ได้แก่ ผ่าตัด รังสีรักษา ยาเคมีบำบัด ยาฮอร์โมน ยารักษาตรงเป้า รังสีร่วมรักษา และการรักษาประคับประคองตามอาการด้วยอายุรกรรมทั่วไป โดยผู้ป่วยแต่ละคนจะใช้วิธีการรักษาที่แตกต่างกันออกไป บางรายอาจใช้วิธีรักษาเพียงวิธีเดียว บางรายจะต้องใช้วิธีการรักษาหลายวิธีร่วมกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ

- ระยะของโรค

- ชนิดของเซลล์มะเร็ง

- บริเวณของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่เป็นมะเร็ง

- ผ่าตัดได้หรือไม่ หลังผ่าตัด ยังคงหลงเหลือก้อนมะเร็งหรือไม่

- ผลพยาธิวิทยาชิ้นเนื้อหลังผ่าตัดเป็นอย่างไร

- อายุของผู้ป่วย

- สุขภาพของผู้ป่วย

"มะเร็ง โรคร้ายที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากตรวจพบในระยะเริ่มแรก"

 

ความรู้อื่นๆ ที่น่าสนใจ

7 ข้อแนะนำสำหรับขาแรงก่อนลงแข่งขันวิ่งระยะไกล

7 ข้อแนะนำเตรียมความพร้อมก่อนเข้าร่วมการแข่งขันวิ่งระยะไกล เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้าแข่งขัน

อริสโตเติล

นักธรรมชาติวิทยาคนแรกของโลก

วิลเลี่ยม ฮาร์วี่

นายแพทย์ชาวอังกฤษผู้ใช้เวลากว่า 10 ปีในการศึกษาระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกายว่าทำงานอย่างไร

ภาวะ "คลอดก่อนกำหนด"

เนื่องจากภาวะคลอดก่อนกำหนดจะทำให้ร่างกายของเด็กที่คลอดออกมายังไม่พร้อมต่อการเผชิญสภาพแวดล้อมภายนอก จึงต้องมีการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกงูกัด

เมื่อถูกงูกัด ควรตั้งสติให้ดีและปฐมพยาบาลให้ถูกต้อง เพื่อให้พิษส่งผลกระทบกับผูถูกกัดน้อยที่สุด และสามารถนำส่งแพทย์ได้ทัน

ทำอย่างไร...ห่างไกลสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อมนั้นถือว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ภาวะปกติของผู้สูงอายุ สาเหตุเกิดจากลักษณะการใช้ชีวิตในแต่ละวันของคนเราว่าจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้หรือไม่ จึงควรรู้ถึงสาเหตุและวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสมองเสื่อม