"ผู้หนักแน่นในสัจจะ พูดอย่างไรทำอย่างนั้น จึงจะได้รับความสำเร็จ พร้อมทั้งความศรัทธา เชื่อถือ และความยกย่องสรรเสริญจากคนทุกฝ่าย การพูดแล้วทำ คือพูดจริงทำจริง จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ในการส่งเสริมเกียรติคุณของบุคคลให้เด่นชัด"
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ไซนัส(Paranasal Sinuses)

ไซนัสคืออะไร อยู่ที่ไหน

ไซนัส(Paranasal Sinuses) เป็นโพรงอากาศบริเวณใบหน้าและฐานของกะโหลกศีรษะที่มีรูเปิด(Ostium) ติดต่อกับช่องจมูก ภายในไซนัสมีเยื่อบางๆ(Mucosa) บุอยู่แบบเดียวกับเยื่อบุในช่องปาก เยื่อบุบางๆ นี้ต่อเป็นผืนเดียวกันกับเยื่อบุภายในช่องจมูกและปาก ไซนัสมีอยู่ 4 ที่ด้วยกันคือ

1. Maxillary Sinus อยู่ภายในโพรงกระดูกแก้มทั้งสองข้าง เป็นไซนัสที่มีขนาดใหญ่ที่สุด และก่อให้เกิดปัญหาบ่อยที่สุด

2. Ethmoid Sinus เป็นโพรงอากาศที่อยู่ในกระดูก ethmoid อยู่ระหว่างส่วนบนของสันจมูกกับหัวตาทั้งสองข้าง ไซนัสนี้มีลักษณะคล้ายรังบวบ แต่ละข้างมีหลายไซนัสด้วยกัน แบ่งออกเป็นไซนัสที่อยู่ด้านหน้าและทางด้านหลังโดยมีรูเปิดเข้าสู่จมูกคนละส่วนกัน

3. Frontal Sinus เป็นโพรงอากาศที่อยู่ในกระดูกหน้าผาก ส่วนใหญ่จะมีสองข้าง ถ้ามีข้างเดียวหรือไม่มีเลยก็ไม่ถือเป็นสิ่งผิดปกติ ในเด็กเล็กไซนัสนี้ยังไม่มีการเจริญเติบโต ขนาดของไซนัสอาจแตกต่างกันมากในแต่ละคน ไซนัสนี้เมื่อมีอาการติดเชื้อเกิดขึ้น อาจทำให้ผิวหนังบริเวณหน้าผากบวมแดงและโป่งพองออกมา หรือทะลุเข้าไปข้างในทำให้เยื่อหุ้มสมองจนถึงสมองอักเสบได้

4. Sphenoid Sinus อยู่ใต้ฐานกะโหลกศีรษะในกระดูก Sphenoid ไซนัสนี้ปกติมีสองข้าง ขนาดของแต่ละข้างอาจไม่เท่ากัน ถ้าไซนัสนี้ติดเชื้อจะมีอาการรุนแรงถึงขั้นทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้

ไซนัสอักเสบ หรือที่ชอบใช้ว่า 'เป็นไซนัส' นั้นหมายถึงอะไร

ไซนัสอักเสบ หมายถึงโรคหรือภาวะที่มีการอักเสบของเยื่อบุภายในไซนัส ที่เกิดจากการติดเชื้อหรือภูมิแพ้ ทำให้เยื่อบุภายในไซนัสและช่องจมูกบวมและเกิดการอุดตันที่รูเปิดของไซนัส

ทำไมถึงเป็นไซนัส และไซนัสอักเสบเกิดขึ้นได้อย่างไร

อาการของไซนัสอักเสบ

โดยปกติผู้คนมักเข้าใจว่าถ้าเป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังจะต้องมีอาการมึนศีรษะ ปวดบริเวณโหนกแก้ม ใต้ตา รอบๆ ตา ขมับ กลางศีรษะ หรือท้ายทอย ร่วมกับคัดจมูกน้ำมูกไหล ทำให้หลงผิดไปว่าตนเองไม่ได้เป็นไซนัสถ้าไม่มีอาการดังกล่าว มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่เป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง แต่มีอาการเพียงแค่ ไอเรื้อรัง เสมหะไหลลงคอ เจ็บคอบ่อย บางครั้งไม่มีอาการปวดศีรษะเลยหรือถ้ามีก็แค่มึนศีรษะ ง่วงเหงาหาวนอน และมีน้ำมูกไหลร่วมกับคัดจมูก เป็นๆ หายๆ ได้กลิ่นน้อยลง หายใจมีกลิ่นเหม็น ทำให้ผู้ป่วยหลงนึกไปว่าตนเองเป็นเพียงหวัดเรื้อรังเท่านั้น ผู้ป่วยไซนัสอักเสบบางรายมาพบแพทย์ด้วยอาการหูตึง ได้ยินน้อยลง หรือมีเสียงก้องในหู อาการอื่นๆ ที่บ่งชี้ว่าเป็นไซนัสอักเสบเรื้อรังคือ อาการปวดฟัน โดยเฉพาะฟันบนซี่ในที่มักปวดพร้อมกันหลายๆ ซี่ทั้งที่ไม่มีฟันผุ ซึ่งต่างจากอาการปวดฟันที่เกิดจากฟันผุที่มักปวดฟันบนซี่ใดซี่หนึ่งเท่านั้น

นอกเหนือจากอาการดังกล่าวข้างต้นถ้าผู้ป่วยมีอาการอื่นๆ เช่น บวมแดงบริเวณหน้าผากหรือตา ตาพร่า เห็นภาพซ้อน ปวดศีรษะอย่างรุนแรง อาเจียน ก็อาจเป็นอาการของโรคแทรกซ้อนจากไซนัสอักเสบได้

ส่วนไซนัสอักเสบชนิดเฉียบพลันจะมีอาการคล้ายไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ร่วมกับอาการปวดและเจ็บเมื่อกดบริเวณใบหน้าและบริเวณที่ไซนัสตั้งอยู่ หรือปวดที่กลางศีรษะ ท้ายทอยและขมับ ไซนัสอักเสบชนิดนี้ถ้าได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องจะหายไปภายใน 4 สัปดาห์ แต่ถ้าไม่หายและมีอาการต่อเนื่องนานกว่า 12 สัปดาห์ ก็จัดว่าเป็นไซนัสอักเสบเรื้อรัง

การตรวจผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบ

คำถามยอดฮิตที่แพทย์ถูกถามอยู่เป็นประจำก็คือ

ถาม: โรคไซนัสอักเสบเรื้อรังรักษาแล้วจะหายไหม

ตอบ: รักษาหายได้แน่

ถาม: รักษาแล้วหายสนิทไหม

ตอบ: ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวตามคำแนะนำเพื่อสร้างเสริมสุขภาพของผู้ป่วยและการรักษาของแพทย์

คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยไซนัสอักเสบเรื้อรัง

การรักษาโรคไซนัสอักเสบ

การรักษาโดยใช้ยา

ยาต้านจุลชีพ จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ถ้าสาเหตุมาจากเชื้อราซึ่งพบน้อยมากจะใช้ยาฆ่าเชื้อรา แต่ถ้าสาเหตุมาจากไวรัสไม่จำเป็นต้องใช้ยา การใช้ยาต้านจุลชีพควรเลือกกลุ่มที่ 1 ที่เป็นยาสามัญใช้กันทั่วไปซึ่งนิยมใช้กันมานานแล้วและมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด ยาต้านจุลชีพกลุ่มนี้มีราคาไม่สูงเกินไปและสามารถรักษาโรคให้หายได้ถ้าใช้อย่างถูกต้องในระยะเวลาที่นานพอสมควร(อย่างน้อย 10–14 วัน) ส่วนยาต้านจุลชีพชนิดใหม่กลุ่มที่ 2 และ 3 มีราคาค่อนข้างสูงและยังประเมินผลข้างเคียงระยะยาวไม่ได้ แต่จำเป็นในกรณีที่เชื้อโรคดื้อยาหรือผู้ป่วยมีอาการของไซนัสอักเสบรุนแรงมากตั้งแต่แรก

ยาต้านฮิสตามีน ใช้กับไซนัสอักเสบที่มีสาเหตุจากภูมิแพ้ ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มที่ 2 ไม่อยู่ในสิทธิบัตรยาของบริษัทผู้ผลิตจึงมีราคาไม่แพง ได้ผลดีและผลข้างเคียงน้อย ส่วนยาต้านฮิสตามีนกลุ่มที่ 3 มีราคาแพงมากเพราะยังอยู่ในสิทธิบัตรยาของบริษัทผู้ผลิต ผลการรักษาไม่ต่างกับยากลุ่มที่ 2 มากนัก แต่ยาต้านฮิสตามีนกลุ่มที่ 1 ซึ่งนิยมใช้กันมานานนั้นมีผลข้างเคียงพอสมควร แม้ราคาจะถูกมากแต่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ป่วยต้องทำงานที่มีความเสี่ยงเกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องยนต์ ขับรถ เพราะยากลุ่มนี้ทำให้ง่วงนอน น้ำมูกเหนียว และอาการอื่นๆ ที่เกิดจากฤทธิ์ข้างเคียงของยา

ยาพ่นจมูกที่มีส่วนประกอบของ Corticosteroids ขณะนี้เป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย ยาพ่นจมูกชนิดนี้ให้ผลช้า ราคาแพง แต่ยังไม่ค่อยพบผลข้างเคียงแม้จะใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ส่วนยาพ่นจมูกที่มีส่วนผสมของยาที่ทำให้หายคัดจมูก จะมีผลทันทีทำให้หายคัดจมูก แต่ถ้าใช้ติดต่อกันนานเกิน 3–7 วัน อาจทำลายเยื่อบุจมูกซึ่งเยื่อบุจมูกที่ถูกทำลายไปแล้วจะไม่สามารถกลับมาทำหน้าที่ได้ปกติอีก

ยาแก้หวัดที่มีส่วนผสมของยาลดน้ำมูก(Decongestant) แพทย์ หู คอ จมูก ส่วนใหญ่ใช้น้อยลงในปัจจุบัน แม้ว่าจะเคยนิยมใช้กันมานานหลายสิบปีแล้วก็ตาม

ไม่แนะนำให้ใช้ยาลดการอักเสบ การบวม กลุ่ม NSAIDS เพราะมีผลข้างเคียงอันตราย

การใช้น้ำเกลือล้างจมูก มีผลดีเฉพาะเยื่อบุภายในช่องจมูกเท่านั้น แต่ไม่สามารถเข้าไปถึงในไซนัสได้

การรักษาโดยการผ่าตัด

การผ่าตัดที่ไซนัสในปัจจุบันที่ทำกันอย่างแพร่หลายคือ Functional endoscopic sinus surgery(FESS) หรือ Endoscopic Sinus Surgery(ESS) การผ่าตัดวิธีนี้ต้องใช้กล้องส่องร่วมกับเครื่องมือนำเข้าราคาแพง หลักการคือ ขยายรูเปิดธรรมชาติของไซนัสให้กว้างขึ้น ร่วมกับเอาเนื้อเยื่อและกระดูกที่มีพยาธิสภาพออกมา ก่อนทำการผ่าตัดต้องส่งผู้ป่วยไปเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อใช้เป็นแนวทางในการผ่าตัดและลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น การผ่าตัดวิธีนี้จึงค่อนข้างสิ้นเปลือง

การผ่าตัดที่ไซนัสแบบดั้งเดิม Caldwell Luc, External Ethmoidectomy และ Frontal sinus operation ก็ยังมีอยู่ ส่วนการผ่าตัด Sphenoid sinus ซึ่งอยู่ค่อนข้างลึกถ้าใช้กล้องจะทำได้ละเอียดมากกว่าและมีผลข้างเคียงน้อย

การผ่าตัดภายในช่องจมูก เพื่อแก้สาเหตุที่ทำให้เกิดไซนัสอักเสบ เช่น การตัดริดสีดวงจมูก(Polypectomy) การแก้ไขความผิดปกติของแผ่นกั้นช่องจมูก(Septoplasty) การแก้ไขความผิดปกติภายในช่องจมูก(Infracture of Middle turbinate and Outfracture of Inferior turbinate)

การผ่าตัดต่อม Adenoid และต่อม Tonsil ที่อาจเป็นต้นเหตุของไซนัสอักเสบ

 

ความรู้อื่นๆ ที่น่าสนใจ

7 ข้อแนะนำสำหรับขาแรงก่อนลงแข่งขันวิ่งระยะไกล

7 ข้อแนะนำเตรียมความพร้อมก่อนเข้าร่วมการแข่งขันวิ่งระยะไกล เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้าแข่งขัน

อริสโตเติล

นักธรรมชาติวิทยาคนแรกของโลก

วิลเลี่ยม ฮาร์วี่

นายแพทย์ชาวอังกฤษผู้ใช้เวลากว่า 10 ปีในการศึกษาระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกายว่าทำงานอย่างไร

ภาวะ "คลอดก่อนกำหนด"

เนื่องจากภาวะคลอดก่อนกำหนดจะทำให้ร่างกายของเด็กที่คลอดออกมายังไม่พร้อมต่อการเผชิญสภาพแวดล้อมภายนอก จึงต้องมีการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกงูกัด

เมื่อถูกงูกัด ควรตั้งสติให้ดีและปฐมพยาบาลให้ถูกต้อง เพื่อให้พิษส่งผลกระทบกับผูถูกกัดน้อยที่สุด และสามารถนำส่งแพทย์ได้ทัน

ทำอย่างไร...ห่างไกลสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อมนั้นถือว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ภาวะปกติของผู้สูงอายุ สาเหตุเกิดจากลักษณะการใช้ชีวิตในแต่ละวันของคนเราว่าจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้หรือไม่ จึงควรรู้ถึงสาเหตุและวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสมองเสื่อม