"การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมาก ไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้"
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า(Trigeminal Neuralgia - TN)

อาการ

โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า(Trigeminal Neuralgia - TN) เป็นโรคที่พบได้บ่อยโรคหนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะพบในช่วงวัยผู้ใหญ่ถึงวัยสูงอายุ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดที่ใบหน้าด้านใดด้านหนึ่ง และอาจจะปวดในบริเวณกระพุ้งแก้ม เหงือกและฟันอย่างรุนแรง อาการปวดจะเกิดขึ้นเองโดยฉับพลัน ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกปวดเหมือนโดนเข็มแทง ไฟช็อต หรืออาจปวดแบบแสบร้อนที่บริเวณใบหน้ารวมทั้งเหงือก บางรายอาจมีอาการปวดเหมือนปวดฟันทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโรคฟันผุและถอนฟันออกโดยไม่จำเป็น อาการปวดมักจะเกิดรุนแรงเป็นพักๆ ในช่วงเวลาสั้นๆ ไม่กี่นาที แต่สามารถเกิดขึ้นซ้ำๆ ถี่ๆ ตลอดวัน ผู้ป่วยบางรายอาจมีตำแหน่งบนใบหน้าที่เมื่อถูกสัมผัสจะทำให้อาการปวดเกิดขึ้น ผู้ป่วยเหล่านี้อาจมีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการกระตุ้นตำแหน่งดังกล่าวเช่น ไม่ล้างหน้าแปรงฟัน ไม่โกนหนวด หรือหลีกเลี่ยงการพูดคุย เป็นต้น

สาเหตุ

โรคปวดเส้นประสาทใบหน้าเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากการที่เส้นเลือดสมองไปกดทับเส้นประสาทคู่ที่ห้า ซึ่งทำหน้าที่รับความรู้สึกจากบริเวณใบหน้าและช่องปากจึงทำให้มีอาการปวดเกิดขึ้นที่บริเวณดังกล่าว ส่วนสาเหตุอื่นๆ จะพบได้ไม่บ่อยนัก เช่น มีเนื้องอกสมอง ปลอกประสาทเสื่อม(Multiple Sclerosis- MS) หรือเป็นผลแทรกซ้อนจากติดไวรัสโรคงูสวัดที่บริเวณใบหน้า เป็นต้น

การรักษาโดยยา

แพทย์จะให้ยาแก้อาการปวดเส้นประสาท เช่น Tegretal, Trileptal, Dilantin, Neurontin หรือ Baclofen แต่ยาดังกล่าวเพียงแค่ช่วยไม่ให้มีอาการปวด แต่ไม่ได้รักษาสาเหตุของโรค หรือทำให้หายขาดจากโรค ดังนั้นเมื่อเลิกกินยา อาการปวดจะกลับมาเป็นซ้ำอีก หรือมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเมื่อกินยาไประยะหนึ่งมักจะไม่ได้ผลเหมือนในช่วงแรกและจำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้วิธีรักษาโดยวิธีอื่น

การรักษาโดยการทำลายเส้นประสาท

เมื่อรักษาด้วยยาไม่ได้ผล การรักษาโดยการทำลายเส้นประสาทคู่ที่ห้า(บางส่วน) เป็นทางเลือกทางหนึ่งในการควบคุมอาการปวด ซึ่งในประเทศไทยมีวิธีที่ใช้กันมากอยู่สองวิธีคือ

1. การทำลายเส้นประสาทโดยความร้อน(Percutaneous radiofrequency rhizotomy)

2. การทำลายเส้นประสาทโดยรังสี(Radiosurgery)

นอกเหนือจากสองวิธีดังกล่าวแล้ว ยังมีวิธีอื่นๆ ในการทำลายเส้นประสาทคู่ที่ห้า เช่น การใช้บอลลูนกดทำลายเส้นประสาทหรือการฉีดสารกลีเซอรอลทำลายปลอกประสาท เป็นต้น การรักษาโดยการทำลายเส้นประสาทไม่ว่าจะโดยวิธีใดจะมีข้อดีและข้อเสียคล้ายๆ กันคือ เป็นวิธีที่ไม่ต้องดมยาสลบหรือผ่าตัด ไม่มีบาดแผล ไม่จำเป็นต้องพักฟื้นในโรงพยาบาล มีความเสี่ยงต่ำ สามารถทำได้ในผู้ที่สุขภาพไม่แข็งแรง เช่น มีอายุมากหรือมีโรคประจำตัว รวมทั้งเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง ผู้ป่วยส่วนใหญ่หายจากอาการปวด แต่เนื่องจากเส้นประสาทคู่ที่ห้าบางส่วนถูกทำลายจากการรักษา ทำให้มีผลข้างเคียงคือ จะมีอาการชาที่ใบหน้าเหมือนการฉีดยาชา

การรักษาโดยการผ่าตัด

เนื่องจากโรคปวดเส้นประสาทใบหน้าส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการที่มีเส้นเลือดสมองไปกดเบียดเส้นประสาท จึงมีการรักษาโดยการผ่าตัดสมองเพื่อเปลี่ยนตำแหน่งของเส้นเลือด การรักษาด้วยวิธีนี้เป็นการแก้ไขที่สาเหตุโดยตรง ดังนั้นจึงมีอัตราการหายขาดจากโรคสูง อีกทั้งผู้ป่วยจะไม่มีปัญหาเรื่องใบหน้าชาภายหลังการรักษา เนื่องจากไม่มีการทำลายเส้นประสาท ด้วยความก้าวหน้าของเทคนิคประสาทจุลศัลยกรรมในปัจจุบัน แม้ว่าจะเป็นการรักษาที่ต้องทำการผ่าตัดสมองแต่ก็ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำมากและผู้ป่วยพักฟื้นอยู่ในโรงพยาบาลเพียงไม่กี่วันเท่านั้น

 

ความรู้อื่นๆ ที่น่าสนใจ

7 ข้อแนะนำสำหรับขาแรงก่อนลงแข่งขันวิ่งระยะไกล

7 ข้อแนะนำเตรียมความพร้อมก่อนเข้าร่วมการแข่งขันวิ่งระยะไกล เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้าแข่งขัน

อริสโตเติล

นักธรรมชาติวิทยาคนแรกของโลก

วิลเลี่ยม ฮาร์วี่

นายแพทย์ชาวอังกฤษผู้ใช้เวลากว่า 10 ปีในการศึกษาระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกายว่าทำงานอย่างไร

ภาวะ "คลอดก่อนกำหนด"

เนื่องจากภาวะคลอดก่อนกำหนดจะทำให้ร่างกายของเด็กที่คลอดออกมายังไม่พร้อมต่อการเผชิญสภาพแวดล้อมภายนอก จึงต้องมีการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกงูกัด

เมื่อถูกงูกัด ควรตั้งสติให้ดีและปฐมพยาบาลให้ถูกต้อง เพื่อให้พิษส่งผลกระทบกับผูถูกกัดน้อยที่สุด และสามารถนำส่งแพทย์ได้ทัน

ทำอย่างไร...ห่างไกลสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อมนั้นถือว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ภาวะปกติของผู้สูงอายุ สาเหตุเกิดจากลักษณะการใช้ชีวิตในแต่ละวันของคนเราว่าจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้หรือไม่ จึงควรรู้ถึงสาเหตุและวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสมองเสื่อม