"The beautiful Thing About Learning Is Nobody Can Take It Away From You - สิ่งที่วิเศษสุดสำหรับการเรียนรู้ คือไม่มีใครสามารถเอามันไปจากคุณได้"
B.B. King(บี.บี. คิง)

อังตวน แวน เลเวนฮุค(Antonie Van Leeuwenhoek)

อังตวน แวน เลเวนฮุค ผู้ประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์และค้นพบจุลินทรีย์เป็นคนแรกของโลกอังตวน แวน เลเวนฮุค

อังตวน แวน เลเวนฮุค(Antonie Van Leeuwenhoek) เกิดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1632 ที่เมืองเดลฟท์(Delft) ประเทศเนเธอร์แลนด์(Netherlands) ในครอบครัวของชนชั้นกลาง แต่หลังจากที่บิดาเสียชีวิตหลังจากที่เขาเกิดไม่กี่ปี แม่ของเขาต้องทำหน้าที่หารายได้เลี้ยงครอบครัวเพียงลำพัง ทำให้ครอบครัวของเขายากจนลง เลเวนฮุคได้รับการศึกษาจนอายุ 16 ปี จึงลาออกจากโรงเรียน และเดินทางไปยังเมืองอัมสเตอร์ดัม(Amsterdam) เมืองหลวงของประเทศเนเธอร์แลนด์เพื่อหางานทำ เลเวนฮุคได้งานทำในตำแหน่งเสมียน และทำบัญชีสินค้าของร้านจำหน่ายสินค้าแห่งหนึ่ง เลเวนฮุคทำงานอยู่ที่นี่นานถึง 5 ปี จึงลาออกเพื่อกลับบ้านที่เมืองเดลฟท์ เลเวนฮุคนำเงินที่เก็บไว้มาเปิดร้านค้าจำหน่ายเสื้อผ้าและของใช้เบ็ดเตล็ดต่างๆ เช่นเดียวกับร้านที่เคยทำงาน ส่วนเวลาว่างในช่วงหัวค่ำเขารับจ้างเป็นยามรักษาการณ์ให้กับศาลาประชาคมของเมืองเดลฟท์(Delft City Hall) ซึ่งเขาทำงานในตำแหน่งนี้จนกระทั่งเสียชีวิต

แม้ว่าเลเวนฮุคจะได้รับการศึกษาน้อย แต่ด้วยความที่เขาเป็นคนช่างสังเกตสิ่งรอบๆ ตัวอย่างละเอียด และด้วยความที่เป็นคนตระหนี่ทำให้เมื่อแว่นขยายที่ใช้ส่องดูผ้าภายในร้านหล่นจนร้าว เขาพยายามฝนเลนส์นั้นเพื่อนำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง ซึ่งเลนส์ที่เขาฝนขึ้นมานั้นกลับมีประสิทธิภาพมากกว่าเลนส์ที่วางขายอยู่ทั่วไปเสียอีก ซึ่งต่อมาการฝนเลนส์กลายเป็นงานอดิเรกอย่างหนึ่งของเลเวนฮุค เขาพยายามฝนเลนส์ให้มีขนาดเล็กมาก จนในที่สุดเขาก็สามารถฝนเลนส์ให้มีขนาดเพียง 1/8 นิ้ว หรือประมาณเท่ากับหัวไม้ขีดไฟเท่านั้น จากนั้นเขาจึงนำเลนส์มาสร้างเป็นกล้องจุลทรรศน์ โดยใช้หลักการเดียวกับ กาลิเลโอ กาลิเลอี ที่ประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์ แต่แทนที่จะใช้มองสิ่งที่อยู่ไกล กลับใช้มองสิ่งใกล้ๆ และขยายให้ใหญ่ขึ้น โดยกล้องจุลทรรศน์ของเลเวนฮุคประกอบด้วยเลนส์นูน 2 อัน ซ้อนกันและประกบติดไว้กับโลหะ 2 ชิ้น ส่วนด้านบนเป็นช่องมองและมีด้ามสำหรับถือ มีสกูรสำหรับปรับความคมชัดของภาพ โดยกล้องจุลทรรศน์ของเขามีกำลังขยายมากถึง 300 เท่า

หลังจากที่เลเวนฮุคประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์สำเร็จ เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ในการศึกษาธรรมชาติรอบๆ ตัว เช่น พืช แมลง ขนสัตว์ และสิ่งต่างๆ อีกหลายชนิด วันหนึ่งเลเวนฮุคใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดูน้ำที่ขังอยู่บนพื้นดิน ปรากฏว่าเขาสามารถมองเห็นสัตว์ตัวเล็กๆ จำนวนมากที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เลเวนฮุคเรียกสัตว์จำพวกนี้ว่า "Wretched Beasties" เลเวนฮุคได้อธิบายลักษณะของสัตว์บางตัวที่เขาเห็นว่า "ตัวของมันเป็นเม็ดกลมใสหลายๆ อันมาต่อกัน และมีเขาสองอันซึ่งใช้สำหรับการเคลื่อนที่"

เมื่อเขาเห็นสัตว์พวกนี้ผ่านทางกล้องจุลทรรศน์ เขามีความสงสัยต่อไปอีกว่า สัตว์เหล่านี้มาจากไหน ซึ่งนำไปสู่การค้นคว้าของเขาเกี่ยวกับเรื่องจุลินทรีย์ ขั้นแรกเขารองน้ำฝนที่ตกจากท้องฟ้าใหม่ๆ ใส่ลงในภาชนะที่ล้างสะอาด และนำมาส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ ปรากฏว่าพบจุลินทรีย์เพียง 2-3 ตัวเท่านั้น ซึ่งเลเวนฮุคสันนิษฐานว่าน่าจะติดมาจากรางรองน้ำฝน หลังจากนั้นเขานำน้ำฝนมาวางไว้กลางแจ้ง 4 วัน แล้วส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่ามีสัตว์ตัวเล็กๆ จำนวนมาก ผลจากการทดลองของเลเวนฮุคสามารถสรุปได้ว่า "สัตว์เหล่านี้ไม่ได้มาจากท้องฟ้าอย่างที่เข้าใจกัน แต่ถูกลมพัดมาจากที่ใดสักที่หนึ่ง" ต่อมา พอล เดอ คราฟ(Paul De Kruif) นักแบคทีเรียวิทยาชาวอเมริกัน ทำการวิจัย และพบว่าสัตว์เล็กๆ เหล่านี้เป็นตัวเชื้อโรคที่ทำให้คนเจ็บป่วย

เลเวนฮุคมักใช้กล้องของเขาส่องดูตามแหล่งน้ำต่างๆ เช่น แอ่งน้ำบนถนน ซึ่งพบว่ามีสัตว์เหล่านี้จำนวนมากกว่าที่ใดๆ และพบสัตว์ที่มีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่เขาเคยได้เห็นมาก่อน ครั้งหนึ่งเลเวนฮุคได้ทดลองนำน้ำทะเลมาส่องกล้องดู เขาพบว่า สัตว์ตัวเล็กๆ สีดำลักษณะเป็นเม็ดกลม 2 อันต่อกัน ในขณะที่มันเคลื่อนไหวจะใช้วิธีกระโดดไปเช่นเดียวกับหมัด แต่มีขนาดเล็กกว่าถึง 1,000 เท่า ดังนั้นเขาจึงเรียกสัตว์ชนิดนี้ว่า "หมัดน้ำ" เลเวนฮุคยังคงค้นหาจุลินทรีย์ด้วยกล้องจุลทรรศน์ของเขาต่อไป ซึ่งเขาได้พบจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ กว่า 100 ชนิด ซึ่งบางประเภทมีขนาดเล็กกว่าเม็ดทรายถึง 1,000 เท่า

ผลงานการค้นพบของเลเวนฮุคยังไม่ได้รับการเผยแพร่ออกไป จนกระทั่งวันหนึ่งเขามีโอกาสได้พบกับ ดอกเตอร์เรคนิเออร์ เดอ กราฟ(Dr. Regnier de Graaf) นักชีววิทยาชาวดัทซ์ บอกให้เขาลองส่งผลงานไปยัง ราชสมาคมแห่งกรุงลอนดอน(Royal Society of London) เมื่อทางสมาคมได้รับจดหมายฉบับแรกของเลเวนฮุค ซึ่งภายในมีเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งที่เขาค้นพบจากกล้องจุลทรรศน์ เช่น เหล็กในของผึ้ง เชื้อราที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนัง เป็นต้น หลังจากนั้น เลเวนฮุคก็เขียนเล่าในสิ่งที่เขาค้นพบลงในจดหมายส่งให้กับราชสมาคมแห่งกรุงลอนดอนอย่างสม่ำเสมอ ในปี ค.ศ. 1674 เลเวนฮุคได้เขียนเล่าเรื่องเกี่ยวกับเส้นเลือดฝอย เส้นโลหิตใหญ่ และเส้นเลือดดำ โดยการค้นพบครั้งนี้ถือเป็นการสนับสนุนทฤษฎีระบบการไหลเวียนโลหิตของ วิลเลี่ยม ฮาร์วี่(William Harvey) นายแพทย์ชาวอังกฤษ ที่ยังเป็นเรื่องถกเถียงกันอยู่ ไม่เพียงเท่านี้เขายังสามารถอธิบายลักษณะของเม็ดเลือดได้อย่างละเอียดทั้งของคนที่มีลักษณะเป็นทรงกลม เม็ดเลือดของสัตว์จำพวกนก ปลา และกบ ว่ามีลักษณะเป็นวงรี นอกจากนี้ เขาได้ส่งรายละเอียดเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ ผม และรังไข่ ซึ่งเขาอธิบายเกี่ยวกับเชื้อสืบพันธุ์ได้อย่างละเอียด

เลเวนฮุคยังเขียนจดหมายไปยังราชสมาคมแห่งกรุงลอนดอนอีกหลายฉบับ เป็นต้นว่า การค้นพบโปรโตซัว(Protozoa) แบคทีเรีย(Bacteria) แม้แต่เรื่องราวของสัตว์เล็กๆ อย่างมด ที่ไม่มีใครสนใจ แต่เลเวนฮุคสนใจและศึกษาวงจรชีวิตของมดอย่างจริงจัง ตั้งแต่มดวางไข่ไว้บนต้นกระบองเพชร จากไข่เป็นตัวอ่อน และเจริญเติบโตจนกระทั่งตาย นอกจากมดแล้ว เลเวนฮุคยังได้ศึกษาวงจรชีวิตของหอยกาบ การชักใยของแมงมุมและวงจรเพลี้ย ทำให้เขารู้ว่าเพลี้ยเป็นตัวการสำคัญในการทำลายพืชผลของเกษตรกร หมัดเป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่เลเวนฮุคให้ความสนใจ เมื่อเขาศึกษาอยู่ระยะหนึ่ง เลเวนฮุคพบว่าอันที่จริงแล้วหมัดเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่มีการสืบพันธุ์ และมีวงจรชีวิตเช่นเดียวกับสัตว์อื่น ไม่ได้เกิดจากพื้นดิน หรือสิ่งที่เน่าเปื่อยอย่างที่เข้าใจกันมา ซึ่งอันนี้รวมถึงปลาไหล ปลาดาว และหอยทากด้วย จากความพยายามของเลเวนฮุค ในที่สุดเขาก็ค้นพบสัตว์ชั้นต่ำประเภทเซลล์เดียว เป็นต้นว่า วอลวอกซ์(Volvox) และไฮดรา(Hydra) การค้นพบนี้ถือว่าสำคัญมาก เนื่องจากสิ่งที่เลเวนฮุคค้นพบสามารถลบล้างความเชื่อเก่าเกี่ยวกับทฤษฎีที่ว่า "การเริ่มต้นของสิ่งมีชีวิต คือสิ่งไม่มีชีวิต(Spontaneous Generation)"

ในช่วงแรกที่เลเวนฮุคส่งจดหมายไปยังราชสมาคมฯ ทางราชสมาคมฯ ยังไม่เชื่อข้อความในจดหมายเหล่านั้น แต่เมื่อเขาส่งจดหมายไปอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ทางราชสมาคมแห่งกรุงลอนดอน เริ่มเกิดความลังเลว่าเรื่องในจดหมายของเลเวนฮุคอาจเป็นเรื่องจริงก็ได้ ทางราชสมาคมฯ จึงติดต่อขอยืมกล้องจุลทรรศน์ของเลเวนฮุค แต่เนื่องจากเขาได้พัฒนากล้องจุลทรรศน์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้นด้วย จึงไม่สะดวกในการขนส่ง ทำให้ทางราชสมาคมฯ สั่งให้ โรเบิร์ต ฮุค(Robert Hooke) สร้างกล้องจุลทรรศน์ขึ้น เมื่อสร้างเสร็จทางราชสมาคมฯ ได้ส่องดูสิ่งต่างๆ ตามที่เลเวนฮุคเขียนเล่ามาในจดหมาย ซึ่งก็พบว่าจริงตามจดหมายนั้นทุกอย่าง ทำให้ทางราชสมาคมฯ เชื่อถือและยอมรับเลเวนฮุคเข้าเป็นสมาชิกของราชสมาคมฯ ในปี ค.ศ. 1680 และในปี ค.ศ. 1699 เขาได้รับการเสนอชื่อให้เป็นสมาชิกของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศฝรั่งเศส(French Academy of Sciences)

ผลงานการค้นพบสิ่งต่างๆ ของเลเวนฮุค ในรูปแบบของจดหมายที่ส่งไปยังราชสมาคมฯ ที่มีกว่า 375 ฉบับ ในระยะเวลากว่า 50 ปี ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ลงในวารสารของราชสมาคมฯ โดยใช้ชื่อว่า Philosophical Transactions of the Royal Society of London และเมื่อผลงานของเขาเผยแพร่ออกไป ปรากฏว่ามีผู้คนให้ความสนใจจำนวนมาก ทั้งนักปราชญ์ ราชบัณฑิต นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ รวมถึงขุนนาง และพระมหากษัตริย์ ในปี ค.ศ. 1698 พระเจ้าปีเตอร์มหาราช(Peter the Great) กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของรัสเซีย ทรงเสด็จมาหาเลเวนฮุคที่เมืองเดลฟท์ และใช้เวลาหลายชั่วโมงในการทอดพระเนตรผลงานของเลเวนฮุคผ่านทางกล้องจุลทรรศน์ เป็นต้นว่า ระบบการไหลเวียนโลหิตในส่วนหางของปลาไหล แบคทีเรีย และแมลง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีบุคคลสำคัญอย่างพระเจ้าจักรพรรดิแห่งเยอรมนีและพระราชินีแห่งอังกฤษ มาเยี่ยมชมผลงานของเขาที่บ้านอีกด้วย

เลเวนฮุคใช้เวลาตลอดทั้งชีวิตของเขาในการศึกษา ค้นคว้า และเฝ้าสังเกตสิ่งต่างๆ ผ่านทางกล้องจุลทรรศน์ที่เขาเป็นผู้สร้างขึ้น ซึ่งมากมายจนไม่สามารถบรรยายได้หมด ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างคุณประโยชน์ให้กับวงการวิทยาศาสตร์ แพทย์ และชีววิทยาทั้งๆ ที่เขาไม่ได้รับการศึกษาสูงนัก อีกทั้งไม่มีความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เลย แต่ด้วยความขยัน พยายาม และมุ่งมั่น ในที่สุดเขาก็ประสบความสำเร็จและได้รับการยกย่องจากสมาคมที่มีชื่อเสียงอย่างราชสมาคมแห่งกรุงลอนดอน ซึ่งมีสมาชิกล้วนแต่เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถ รวมถึงสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศฝรั่งเศสด้วย

เลเวนฮุคเสียชีวิตเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1723 ด้วยโรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ หลังจากที่เลเวนฮุคเสียชีวิตไปแล้ว ชาวเมืองเดลฟท์ได้สร้างอนุสาวรีย์ไว้ ณ โบสถ์แห่งหนึ่งใจกลางเมืองเดลฟท์เพื่อเป็นเกียรติแก่เขาที่สร้างคุณประโยชน์อย่างมหาศาลให้กับชาวเมืองเดลฟท์ และสาธารณชน

 

ความรู้อื่นๆ ที่น่าสนใจ

7 ข้อแนะนำสำหรับขาแรงก่อนลงแข่งขันวิ่งระยะไกล

7 ข้อแนะนำเตรียมความพร้อมก่อนเข้าร่วมการแข่งขันวิ่งระยะไกล เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้าแข่งขัน

อริสโตเติล

นักธรรมชาติวิทยาคนแรกของโลก

วิลเลี่ยม ฮาร์วี่

นายแพทย์ชาวอังกฤษผู้ใช้เวลากว่า 10 ปีในการศึกษาระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกายว่าทำงานอย่างไร

ภาวะ "คลอดก่อนกำหนด"

เนื่องจากภาวะคลอดก่อนกำหนดจะทำให้ร่างกายของเด็กที่คลอดออกมายังไม่พร้อมต่อการเผชิญสภาพแวดล้อมภายนอก จึงต้องมีการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกงูกัด

เมื่อถูกงูกัด ควรตั้งสติให้ดีและปฐมพยาบาลให้ถูกต้อง เพื่อให้พิษส่งผลกระทบกับผูถูกกัดน้อยที่สุด และสามารถนำส่งแพทย์ได้ทัน

ทำอย่างไร...ห่างไกลสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อมนั้นถือว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ภาวะปกติของผู้สูงอายุ สาเหตุเกิดจากลักษณะการใช้ชีวิตในแต่ละวันของคนเราว่าจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้หรือไม่ จึงควรรู้ถึงสาเหตุและวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสมองเสื่อม