"ความจริงใจต่อผู้อื่น เป็นคุณธรรมสำคัญมากสำหรับผู้ที่ต้องการความสำเร็จและความเจริญ เพราะช่วยให้สามารถขจัดปัดเป่าปัญหาได้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาอันเกิดจากความกินแหนงแคลงใจและเอารัดเอาเปรียบกัน นอกจากนั้นยังทำให้ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจ และความร่วมมือสนับสนุนจากทุกคน ทุกฝ่ายที่ถือมั่นในเหตุผลและความดี ผู้ที่มีความจริงใจจะทำการสิ่งใดก็มักสำเร็จได้โดยราบรื่น"
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ชาร์ล โรเบิร์ต ดาร์วิน(Charles Robert Darwin)

ชาร์ล โรเบิร์ต ดาร์วิน ผู้คิดค้นทฤษฎีวิวัฒนาการชาร์ล โรเบิร์ต ดาร์วิน

ชาร์ล โรเบิร์ต ดาร์วิน(Charles Robert Darwin)เกิดวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1809 ที่เมืองชรูเบอรี่(Shrubbery) ชรอพไชร์(Shropshire) ประเทศอังกฤษ(England) ในครอบครัวที่มั่งคั่งและมีชื่อเสียงมากที่สุดครอบครัวหนึ่งของอังกฤษ บิดาของดาร์วินเป็นนายแพทย์ชื่อว่าโรเบิร์ต วอริง ดาร์วิน(Robert Waring Darwin) บิดาต้องการให้เขาศึกษาวิชาแพทย์ แต่ดาร์วินไม่สนใจศึกษาวิชาใดเลย เขามักใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเที่ยวเล่น ยิงนก ตกปลา ไล่จับแมลงชนิดต่างๆ เพื่อการสะสม และใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ พฤติกรรมของดาร์วินสร้างความหนักใจให้กับบิดาของเขามาก เนื่องจากเกรงว่าดาร์วินจะนำความเสื่อมเสียมาสู่ตระกูล ดังนั้นบิดาจึงบังคับให้ดาร์วินเรียนวิชาแพทย์ ถึงแม้ว่าดาร์วินจะไม่ต้องการก็ตาม

ในปี ค.ศ. 1825 พ่อของดาร์วินได้ส่งเขาและพี่ชายไปเรียนวิชาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเอดินเบิร์ก(Edinburg University) ดาร์วินต้องเรียนวิชาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเอดินเบิร์กอย่างเบื่อหน่าย ในระหว่างที่เขานั่งฟังบรรยายก็มักจะนั่งหลับไม่ก็เหม่อลอยมองออกไปนอกหน้าต่าง อีกทั้งเขายังกลัวการผ่าตัดศพมากด้วย ทำให้ดาร์วินเรียนอยู่ได้เพียง 2 ปีเท่านั้นก็ต้องลาออกจากมหาวิทยาลัย เขาใช้เวลาส่วนใหญ่หลังจากออกจากมหาวิทยาลัยไปกับการยิงนกตกปลา พ่อของดาร์วินรู้สึกเป็นห่วงลูกชายคนนี้มากเกรงว่าต่อไปภายหน้าจะลำบาก เพราะไม่มีความรู้พอที่จะประกอบอาชีพได้ ดังนั้นพ่อจึงส่งดาร์วินไปเรียนต่อวิชาเกี่ยวกับศาสนา ซึ่งดาร์วินก็ไม่ได้ปฏิเสธแต่อย่างใด แต่ก่อนที่จะเรียนศาสนานั้นต้องเรียนให้จบปริญญาตรีเสียก่อน ดาร์วินจึงเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์(Cambridge University) ในระหว่างที่เขาเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ เขาได้มีโอกาสเข้าฟังการบรรยายวิชาธรรมชาติอยู่เสมอซึ่งเป็นสิ่งที่เขาชื่นชอบมาตั้งแต่เด็ก ดาร์วินศึกษาหาความรู้ด้านนี้จากตำรา และอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญอีก 2 ท่าน คือศาสตราจารย์เฮนสโลว์(P.Henslow) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านพฤกษศาสตร์ และศาสตราจารย์เซดจ์วิค(P.Sedgwick) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านธรณีวิทยา ทั้งสองได้พาดาร์วินออกสำรวจตามสถานที่ต่างๆ อยู่เสมอ ซึ่งดาร์วินก็ให้ความสนใจเป็นอย่างดี ดาร์วินสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ในปี ค.ศ. 1829

แต่ดาร์วินยังคงศึกษาวิชาต่างๆ ที่เขาสนใจต่ออีก 1 ปี ในระหว่างนี้เองทางราชนาวีอังกฤษมีโครงการจะออกเดินทางสำรวจสภาพภูมิประเทศบริเวณชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งยังไม่มีผู้ใดเคยทำการสำรวจมาก่อน โดยจะใช้เรือหลวงบีเกิ้ล(H.M.S.Beagle) เป็นเรือที่ใช้ในการเดินทางสำรวจ และมีกัปตันวิทซ์รอย(Captain Witzroy) เป็นผู้บังคับการเรือ แต่ก่อนจะออกเดินทางกัปตันวิทซ์รอยต้องการนักธรรมชาติวิทยาเดินทางไปกับคณะสำรวจครั้งนี้ด้วย กัปตันประกาศรับอาสาสมัครอยู่นานก็ไม่มีผู้ใดสนใจเพราะนักธรรมชาติวิทยาที่จะเดินทางไปกับเรือจะต้องออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางครั้งนี้เองทั้งหมด กัปตันจึงเดินทางไปพบกับศาสตราจารย์เฮนสโลว์ เพื่อขอร้องให้ช่วยหานักธรรมชาติวิทยา ศาสตราจารย์เฮนสโลว์จึงมาบอกดาร์วิน ซึ่งดาร์วินรู้สึกดีใจมากที่จะได้มีโอกาสออกสำรวจดินแดนที่ยังไม่เคยมีผู้ใดเคยสำรวจมาก่อน เมื่อดาร์วินไปขออนุญาตและค่าใช้จ่ายในการเดินทางกับพ่อ ด้วยความเป็นห่วงลูกชาย พ่อของเขาจึงไม่อนุญาตให้เดินทางในครั้งนี้ ซึ่งทำให้ดาร์วินรู้สึกเสียใจมาก เขาจึงเดินทางไปหาลุงโจเซียร์ เวดจ์วูด(Josiah Wedgwood) และเล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟังเพื่อปรับทุกข์ ลุงรู้สึกสงสารจึงไปพูดขอร้องให้กับดาร์วิน ในที่สุดพ่อก็อนุญาตให้ดาร์วินออกเดินทางไปกับเรือหลวงบีเกิ้ลได้

เรือหลวงบีเกิ้ลออกเดินทางจากท่าเรือดาเวนพอร์ต(Devonport Harbor) เมืองพลายเมาท์(Plymouth) ประเทศอังกฤษในวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1831 แล่นเข้ามหาสมุทรแอตแลนติกโดยเลียบไปตามชายฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกาเข้าสู่หมู่เกาะคานาร์เป็นหมู่เกาะแรก

ข้ามฝั่งไปทวีปอเมริกาใต้เข้าประเทศบราซิล ที่เมืองเรซิเฟ(Recife) ซัลวาดอร์(Salavdor) และริโอ เดอ จาเนโร(Rio de Janeiro) เพื่อสำรวจลุ่มแม่น้ำอเมซอน(Amazon River)

แล่นอ้อมแหลมฮอร์น(Cape Horn) สู่เมืองท่าวาลปาไรโซ(Valparaiso) ประเทศซิลี(Chile)

แล่นเรือเลียบชายฝั่งและแวะตามเกาะต่างๆ จนถึงประเทศเปรู

เมื่อสำรวจประเทศเปรูเสร็จ ออกเดินทางไปยังเกาะตาฮิติ(Tahiti Island)

เดินทางสำรวจตะวันออกของทวีปอเมริกาใต้ เข้าสู่ประเทศนิวซีแลนด์(New Zealand)

สำรวจเกาะแทสมาเนีย(Tasmania Island) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะออสเตรเลีย และเข้าสำรวจประเทศออสเตรเลีย

เดินทางเข้าสู่มหาสมุทรอินเดีย ผ่านเกาะสุมาตรา ชวา และเข้าสู่แหลมมะละกา(Malaga Cape)

จากนั้นเข้าสู่เกาะมอริเทียส(Mauritius Island) ซึ่งตั้งอยู่กลางมหาสมุทรอินเดีย และเดินทางต่อมาเรื่อยๆ จนถึงเมืองพอร์ต หลุยส์(Port Louis)

เดินทางผ่านแหลมกู๊ดโฮป(Cape of Good Hope) เข้าสู่เกาะเซนต์เฮเลนา(St. Helena) และเข้าประเทศบราซิลอีกครั้งที่เมืองเปอร์นัมบูโก(Pernambuco)

ต่อจากนั้นเรือบีเกิ้ลได้เข้าจอดที่อ่าวเปอร์โต ปาร์ยา(Porto Praya) ในหมู่เกาะเคปเวิร์ด(Cape Verde)

แวะเมืองอาโซส(Azores) เป็นแห่งสุดท้ายก่อนเข้าจอดเทียบท่าที่เมืองฟอลมัธ(Falmouth) เมืองท่าทางตอนใต้ของประเทศอังกฤษ

การเดินทางครั้งนี้ดาร์วินต้องเผชิญกับอาการเมาคลื่นและอาการเจ็บป่วยอยู่ตลอดเวลาเนื่องจากสภาพอากาศในแต่ละวันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและแตกต่างไปจากที่คุ้นเคย แต่ทำให้เขาได้พบเห็นพืช สัตว์และสภาพภูมิประเทศที่แปลกตา รวมถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันออกไป เช่น เมื่อเรือบีเกิ้ลเดินทางไปถึงหมู่เกาะเคปเวิร์ด และจอดที่ท่าเรือเมืองปราเวีย(Pravia) ดาร์วินพบพืชเขตร้อนที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น กล้วยหอม ปาล์มและต้นมะขาม เป็นต้น อีกทั้งเขายังได้เห็นหินสีขาวที่แข็งมาก และจากการวิเคราะห์ดาร์วินสรุปว่า หินสีขาวนี้เกิดจากซากหอยและปะการังที่ถูกลาวาไหลลงมาทับทำให้หินมีความแข็งมากเป็นพิเศษ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวโลก ทำให้หินสีขาวถูกดันขึ้นมาอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 45 ฟุต

สถานที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง คือ หมู่เกาะกาลาปากอส(Galápagos Islands) ซึ่งประกอบไปด้วยเกาะถึง 14 เกาะ ในจำนวนนี้มี 5 เกาะเป็นเกาะขนาดใหญ่ ซึ่งเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดมีความยาวมากถึง 45 ไมล์ จากการสำรวจดาร์วินพบว่าเกาะเหล่านี้เกิดจากหินลาวาภูเขาไฟ ซึ่งแต่ละเกาะจะมีภูเขาไฟขนาดใหญ่ที่มีความสูงถึง 3,000-4,000 ฟุต สภาพโดยทั่วไปของหมู่เกาะกาลาปากอสแห้งแล้งและกันดาร อีกทั้งมีสัตว์ที่มีลักษณะพิเศษอาศัยอยู่ทั่วไปได้แก่ เต่าที่มีน้ำหนักมากถึง 200 ปอนด์ เส้นผ่านศูนย์กลางของกระดองยาวประมาณ 7 ฟุต และมีอายุประมาณ 300-400 ปี ซึ่งเต่าขนาดใหญ่เหล่านี้เป็นที่มาของชื่อเกาะกาลาปากอส เพราะในภาษาสเปนกาลาปากอสแปลว่าเต่ายักษ์ อีกอย่างหนึ่งที่สร้างความประหลาดใจให้กับดาร์วินคือ กิ้งก่ายักษ์จำนวนมากบริเวณชายฝั่งทะเลซึ่งมีขนาดลำตัวยาวถึง 4 ฟุต

ดาร์วินจดบันทึกการเดินทางครั้งนี้อย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิอากาศในแต่ละวัน แต่ละสถานที่ สภาพภูมิประเทศ อีกทั้งพันธุ์พืชและสัตว์ที่พบทุกชนิด นอกจากนี้ดาร์วินยังเก็บซากพืช ซากสัตว์ เช่น แมลง เปลือกหอย และหินไว้เป็นจำนวนมาก บางส่วนดาร์วินได้ส่งมาเก็บไว้ที่บ้านพักในประเทศอังกฤษทางไปรษณีย์ แต่ถ้าชิ้นไหนมีขนาดใหญ่จนไม่สามารถเก็บมาได้ ดาร์วินจะวาดภาพไว้อย่างละเอียด โดยภาพที่เขาวาดจะมีสัดส่วนเหมือนจริงทุกประการ

เรือบีเกิ้ลใช้เวลาในการเดินทางครั้งนี้ทั้งหมด 5 ปี โดยกลับถึงประเทศอังกฤษในวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 1836 เมื่อดาร์วินกลับบ้าน เขาหมกหมุ่นอยู่กับการศึกษาแยกหมวดหมู่ซากพืชซากสัตว์ที่เก็บมา ในปีเดียวกันนี้ดาร์วินได้ตีพิมพ์ผลงานของเขาออกมาเล่มหนึ่งชื่อว่า A Naturalist's Voyage Around the World ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งที่เขาพบเห็นมาตลอดระยะเวลา 5 ปีที่เดินทางสำรวจโลกไปกับเรือบีเกิ้ล และจากผลงานชิ้นนี้ ดาร์วินได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการธรณีวิทยาสมาคม(Geological Society) ในปีค.ศ. 1838

ปี ค.ศ. 1842 ดาร์วินย้ายไปอยู่ที่มณฑลเคนท์(Kent) ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงลอนดอน ในระหว่างที่เขาพำนักอยู่ที่นี่ ดาร์วินได้ทำการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับธรรมชาติพร้อมกับตีพิมพ์ผลงานออกมาอีก 1 เล่มชื่อว่า The Structure and Distribution of Coral Reef ต่อมาอีก 2 ปี ดาร์วินได้ตีพิมพ์ผลงานออกมาอีก 1 เล่มชื่อว่า Geological Observations of South America และในปี ค.ศ. 1846 ดาร์วินได้ตีพิมพ์ผลงานออกมาอีกเล่ม ชื่อว่า Geological Observation on Volcanic Island หนังสือทั้ง 3 เล่มนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางของดาร์วินในการสำรวจโลกกับเรือบีเกิ้ล หลังจากนั้นดาร์วินมีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องเพรียงที่เขาเก็บมาจากชายฝั่งประเทศซิลีเมื่อครั้งที่เขาเดินทาง ดาร์วินศึกษาลักษณะทางกายภาพของเพรียงอย่างละเอียด โดยการผ่าตัดดูเพรียงทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต จากการศึกษาเพรียงดาร์วินได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเพรียงถึง 4 เล่ม

จากเรื่องเพรียง ดาร์วินได้หันมาให้ความสนใจศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิต โดยเขามีแรงบันดาลใจมาจากซากฟอสซิล(Fossil) ดาร์วินใช้เวลาในการค้นคว้าเรื่องนี้นานกว่า 20 ปี เขารวบรวมข้อมูลเพื่อค้นหาวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต โดยศึกษาสิ่งมีชีวิตหลายชนิดทั้งคน ม้า สุนัขและลิง เป็นต้น จากการค้นคว้าเขาสามารถสรุปและตั้งเป็นทฤษฎีวิวัฒนาการได้ว่า สิ่งมีชีวิตในปัจจุบันนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตในอดีต ต่อมาในวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1859 ดาร์วินได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานออกมาเล่มหนึ่งชื่อว่า The Original of Species หรือ กำเนิดพืชและสัตว์ต่างๆ ซึ่งมีเนื้อหาอธิบายถึงกำเนิดของสิ่งมีชีวิตรวมถึงวิวัฒนาการจากรูปแบบหนึ่งไปสู่อีกรูปแบบหนึ่งด้วย ซึ่งมีผลมาจากสภาพแวดล้อมเป็นสำคัญ คือ เมื่อสภาพแวดล้อมเป็นเช่นไร สิ่งมีชีวิตทั้งหลายจำเป็นต้องปรับสภาพให้เหมาะสมกับการดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนั้นเพื่อชีวิตที่จะคงอยู่ต่อไป โดยการเปลี่ยนแปลงนี้ต้องใช้ระยะเวลาอันยาวนาน โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งโครงสร้างทางร่างกายและลักษณะนิสัย การวิวัฒนาการเช่นนี้ดาร์วินเรียกว่า "การคัดเลือกโดยธรรมชาติ(Natural Selection)" หนังสือเล่มนี้ยังอธิบายเกี่ยวกับวิวัฒนาการของมนุษย์ว่ามาจากลิง เมื่อหนังสือของดาร์วินได้รับการเผยแพร่ออกไป ปรากฏว่าถูกคัดค้านจากพวกเคร่งศาสนาอย่างหนัก บางคนถึงกับกล่าวหาดาร์วินว่าเป็นพวกนอกศาสนา นอกรีต แม้แต่กัปตันเรือบีเกิ้ลซึ่งทั้งสองเคยร่วมเดินทางสำรวจด้วยกันเป็นเวลานานถึง 5 ปี ก็ได้ว่ากล่าวดาร์วินอย่างรุนแรงเช่นกัน สาเหตุมาจากที่คนเหล่านี้มีความเชื่อว่าสรรพสิ่งในโลกนี้ล้วนแต่พระเจ้าสร้างมา ซึ่งมีรูปแบบเช่นนี้มาตั้งแต่แรก แต่ต่อมาไม่นานคนเหล่านี้ก็ให้การยอมรับทฤษฎีข้อนี้ สำหรับวงการวิทยาศาสตร์ และประชาชนส่วนใหญ่ต่างก็ยอมรับในทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินตั้งแต่ครั้งแรกที่มีการเผยแพร่ออกมา ดาร์วินมีการตีพิมพ์ผลงานเกี่ยวกับธรรมชาติออกมาอีกหลายเล่ม ได้แก่

- ค.ศ. 1862 พิมพ์หนังสือชื่อว่า Fertilization of Orchids by Insects

- ค.ศ. 1868 พิมพ์หนังสือชื่อว่า The Variation of Animal and Plants under Domestication

- ค.ศ. 1871 พิมพ์หนังสือชื่อว่า The Descent of Man and Selection in Relation to Sex

- ค.ศ. 1872 พิมพ์หนังสือชื่อว่า The Expression of the Emotions in Man and Animals

- ค.ศ. 1875 พิมพ์หนังสือชื่อว่า The Effects of Cross and Self Fertilization in the Vegetable Kingdom

- ค.ศ. 1877 พิมพ์หนังสือชื่อว่า The Different Forms of Flowers on Plants of The Same Species

- ค.ศ. 1880 พิมพ์หนังสือชื่อว่า The Power of Movement in Plants

- ค.ศ. 1881 พิมพ์หนังสือชื่อว่า The Formation of Vegetable Mould Through The Action of Worms ซึ่งเป็นหนังสือเล่มสุดท้ายก่อนที่ดาร์วินจะเสียชีวิตในวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1882 ศพของเขาถูกฝังอยู่ที่วิหารเวสเตอร์ ผลงานของดาร์วินที่ถ่ายทอดลงในหนังสือล้วนเป็นผลงานที่มีประโยชน์อย่างมากทั้งทางชีววิทยาและมนุษยวิทยา โดยเฉพาะทฤษฎีวิวัฒนาการถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญในวงการชีววิทยา

 

ความรู้อื่นๆ ที่น่าสนใจ

7 ข้อแนะนำสำหรับขาแรงก่อนลงแข่งขันวิ่งระยะไกล

7 ข้อแนะนำเตรียมความพร้อมก่อนเข้าร่วมการแข่งขันวิ่งระยะไกล เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้าแข่งขัน

อริสโตเติล

นักธรรมชาติวิทยาคนแรกของโลก

วิลเลี่ยม ฮาร์วี่

นายแพทย์ชาวอังกฤษผู้ใช้เวลากว่า 10 ปีในการศึกษาระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกายว่าทำงานอย่างไร

ภาวะ "คลอดก่อนกำหนด"

เนื่องจากภาวะคลอดก่อนกำหนดจะทำให้ร่างกายของเด็กที่คลอดออกมายังไม่พร้อมต่อการเผชิญสภาพแวดล้อมภายนอก จึงต้องมีการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกงูกัด

เมื่อถูกงูกัด ควรตั้งสติให้ดีและปฐมพยาบาลให้ถูกต้อง เพื่อให้พิษส่งผลกระทบกับผูถูกกัดน้อยที่สุด และสามารถนำส่งแพทย์ได้ทัน

ทำอย่างไร...ห่างไกลสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อมนั้นถือว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ภาวะปกติของผู้สูงอายุ สาเหตุเกิดจากลักษณะการใช้ชีวิตในแต่ละวันของคนเราว่าจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้หรือไม่ จึงควรรู้ถึงสาเหตุและวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสมองเสื่อม