"Education Is The Most Powerful Weapon Which You Can Use To Change The World - การศึกษาเป็นอาวุธที่ทรงพลังที่สุด ที่เราจะนำมาใช้ในการเปลี่ยนแปลงโลก"
Nelson Mandela(เนลสัน แมนเดลา)

เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์(Edward Jenner) - ผู้ค้นพบวิธีป้องกันโรคไข้ทรพิษ(Smallpox)

เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์(Edward Jenner) ผู้ค้นพบวิธีป้องกันโรคไข้ทรพิษเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์

เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์(Edward Jenner) เกิดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1749 ที่เมืองเบิร์กเลย์(Berkeley) ประเทศอังกฤษ(England) และเสียชีวิต วันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 1823 ที่เมืองเดียวกัน

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 เป็นยุคที่ผู้คนต้องเผชิญกับโรคระบาดที่ร้ายแรงหลายโรค โดยเฉพาะ โรคไข้ทรพิษ ซึ่งเป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนมาก เพราะโรคไข้ทรพิษเป็นโรคระบาดที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว เมื่อป่วยเป็นโรคนี้แล้วมีโอกาสสูงที่จะเสียชีวิต ถ้าไม่เสียชีวิตก็อาจจะตาบอดและมีแผลเป็นที่น่าเกลียดติดตัวไปตลอดชีวิต

ในช่วงเวลานั้น โรคไข้ทรพิษ เป็นโรคที่ระบาดทั้งในเอเชีย ยุโรป และในอเมริกา รายงานฉบับหนึ่งรายงานว่าเฉพาะในประเทศเยอรมนีประเทศเดียวมีคนเสียชีวิตด้วยโรคนี้ถึง 30,000 คนต่อปี แต่ในที่สุดโรคร้ายนี้ก็ถูกสยบลงด้วยความสามารถและความพยายามของนายแพทย์ชาวอังกฤษนามว่า เอ็ดเวิร์ค เจนเนอร์(Edward Jenner) เขาได้พบวิธีปลูกฝีเพื่อป้องกันโรคไข้ทรพิษ และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาผู้คนก็ไม่ต้องหวาดกลัวกับโรคร้ายแรงชนิดนี้อีกต่อไป

เจนเนอร์ เป็นเด็กฉลาดและช่างสังเกต เขาประดิษฐ์บอลลูนที่สามารถลอยขึ้นท้องฟ้าได้ แต่ไม่มีใครเชื่อว่านั่นคือสิ่งประดิษฐ์เพราะคิดว่าเกิดจากผีที่สิงอยู่ในบอลลูน เมื่อจบการศึกษาขั้นต้นแล้ว เขาได้เข้าศึกษาต่อในวิชาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเมืองบริสตอล(Bristol) ในปี ค.ศ. 1773 หลังจากเจนเนอร์สำเร็จการศึกษาก็ได้เข้าทำงานเป็นแพทย์ฝึกหัดกับศัลยแพทย์ประจำเมืองเบิร์กเลย์ ต่อมาเจนเนอร์ได้เดินทางไปยังกรุงลอนดอนเพื่อศึกษาวิชาแพทย์กับศัลยแพทย์ผู้มีชื่อเสียงนามว่า จอห์น ฮันเตอร์(John Hunter) และเปิดคลีนิคส่วนตัวที่กรุงลอนดอนหลังจากจบการศึกษาแล้ว

ในปี ค.ศ. 1792 เจนเนอร์เริ่มการค้นคว้าเกี่ยวกับโรคไข้ทรพิษที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักอยู่ในทวีปยุโรปและประเทศอังกฤษ ผู้คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเป็นเด็ก วันหนึ่งเขาสังเกตเห็นว่า หญิงรีดนมวัวที่ป่วยเป็นโรคฝีดาษวัว(Cowpox) ซึ่งเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่มีแผลพุพองตามตัว แต่หญิงรีดนมวัวเหล่านี้ไม่มีใครป่วยเป็นโรคไข้ทรพิษแม้แต่คนเดียว มีเพียงแผลพุพองเล็กน้อยเท่านั้น เจนเนอร์จึงเกิดความคิดที่จะนำน้ำหนองในแผลของหญิงรีดนมวัวมาสกัดเป็นวัคซีนโดยทำให้เชื้ออ่อนตัวลง เขาได้นำน้ำหนองจากหญิงที่ชื่อว่า ซาราห์ เนลเมส(Sarah Nelmes) มาสกัดเป็นวัคซีนและนำไปทดลองกับสัตว์หลายชนิด จนกระทั่งในวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1796 เจนเนอร์ได้นำวัคซีนนั้นมาฉีดให้กับ เจมส์ ฟีพส์(James Phipps) เด็กชายวัย 8 ขวบ โดยการกรีดผิวหนังที่แขนของเจมส์จนเป็นแผล จากนั้นจึงนำหนองฝีวัวใส่ลงไป ถือได้ว่านี่คือครั้งแรกของโลกที่มีการปลูกฝีขึ้น ปรากฏว่าเจมส์ป่วยเป็นไข้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น หลังจากนั้นอีกประมาณ 2 เดือน เจนเนอร์ได้นำเชื้อไข้ทรพิษมาฉีดให้กับเจมส์ ปรากฏว่าเจมส์ไม่ป่วยเป็นโรคไข้ทรพิษ เจนเนอร์ได้ทดลองวัคซีนของเขาอีกหลายครั้งจนมั่นใจว่าวัคซีนของเขาสามารถป้องกันโรคไข้ทรพิษได้

An Inquiry into the Causes and Effects of the Variolae Vaccinae หนังสือผลงานการค้นพบการรักษาไข้ทรพิษของเอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์An Inquiry into the Causes
and Effects of the Variolae Vaccinae

เมื่อการทดลองของเขาประสบความสำเร็จ และได้ปรับปรุงวัคซีนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในปี ค.ศ. 1798 เขาได้นำรายงานผลการทดลองส่งให้กับ ราชสมาคมแห่งกรุงลอนดอน(Royal Society of London) แต่ปรากฏว่าราชสมาคมไม่สนใจผลงานของเขาแม้แต่น้อย อีกทั้งยังส่งผลงานเขากลับคืนมาอีกด้วย เขาจึงตีพิมพ์ผลงานของเขาด้วยเงินทุนส่วนตัว และใช้ชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า An Inquiry into the Causes and Effects of the Variolae Vaccinae มีความยาว 75 หน้า ภายในหนังสือมีรายละเอียดเกี่ยวกับการป้องกันโรคไข้ทรพิษโดยการปลูกฝีที่สกัดจากน้ำหนองของผู้ป่วยโรคฝีดาษวัว เมื่อผลงานของเขาได้เผยแพร่ออกไป ปรากฏว่าถูกคัดค้านจากวงการแพทย์และเห็นว่าเป็นเรื่องตลกหลอกลวง เนื่องจากเคยมีสตรีในกรุงคอนสแตนติโนเปิล(Constantinople) นามว่า แมรี่ เวิทลีย์ มอนตากูว์ เกิดความคิดว่าการป้องกันโรคไข้ทรพิษน่าจะใช้เชื้อไข้ทรพิษ ดังนั้นเธอจึงนำลูกๆ ของเธอไปให้นายแพทย์ผู้หนึ่งปลูกฝีให้ และลูกๆ ของเธอก็บังเอิญไม่ป่วยเป็นโรคไข้ทรพิษ เนื่องจากเธอไม่ได้เป็นแพทย์หรือมีความรู้เกี่ยวกับวิชาการแพทย์ เธอจึงนำเรื่องนี้ไปบอกแพทย์ชาวอังกฤษผู้หนึ่งในกรุงลอนดอน ซึ่งแพทย์ผู้นี้ก็เห็นดีด้วยจึงได้นำเชื้อไข้ทรพิษมาทำวัคซีน แต่ปรากฏว่าผู้ที่มาปลูกฝีกลับป่วยเป็นโรคไข้ทรพิษและเสียชีวิต

สำหรับผลงานของเจนเนอร์ ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนส่วนหนึ่งและพากันมาให้เขาปลูกฝี ปรากฏว่าการปลูกฝีของเจนเนอร์สามารถป้องกันโรคไข้ทรพิษได้เป็นอย่างดี ทำให้จำนวนคนเสียชีวิตด้วยโรคไข้ทรพิษน้อยลง จึงทำให้มีคนเชื่อมั่นในตัวเจนเนอร์มากขึ้น หลังจากนั้นไม่นาน เจนเนอร์ ก็ได้รับการยอมรับจากทุกคน และจากผลงานของเขาชิ้นนี้ ในปี ค.ศ. 1800 ทางรัฐสภาของประเทศอังกฤษได้รับรองผลการทดลองและวัคซีนที่เขาผลิตขึ้น พร้อมมอบเงินให้กับเจนเนอร์ถึง 10,000 ปอนด์ เพื่อใช้ในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ต่อมาอีก 5 ปี เจนเนอร์ได้รับเงินทุนสนับสนุนอีก 20,000 ปอนด์ เพื่อใช้ในการค้นคว้าวัคซีน

เจนเนอร์ยังคงทำงานค้นคว้าเกี่ยวกับวัคซีนต่อไปจนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 1823 ที่เมืองเบิร์กเลย์ ประเทศอังกฤษ หลังจากที่เขาเสียชีวิต ทางรัฐบาลได้สร้างอนุสาวรีย์ที่ จัตุรัสฟอลการ์(Trafalgar Square) เพื่อเป็นอนุสรณ์ในการช่วยชีวิตของมนุษย์ให้พ้นจากโรคร้ายแรงนี้

 

ความรู้อื่นๆ ที่น่าสนใจ

7 ข้อแนะนำสำหรับขาแรงก่อนลงแข่งขันวิ่งระยะไกล

7 ข้อแนะนำเตรียมความพร้อมก่อนเข้าร่วมการแข่งขันวิ่งระยะไกล เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้าแข่งขัน

อริสโตเติล

นักธรรมชาติวิทยาคนแรกของโลก

วิลเลี่ยม ฮาร์วี่

นายแพทย์ชาวอังกฤษผู้ใช้เวลากว่า 10 ปีในการศึกษาระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกายว่าทำงานอย่างไร

ภาวะ "คลอดก่อนกำหนด"

เนื่องจากภาวะคลอดก่อนกำหนดจะทำให้ร่างกายของเด็กที่คลอดออกมายังไม่พร้อมต่อการเผชิญสภาพแวดล้อมภายนอก จึงต้องมีการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกงูกัด

เมื่อถูกงูกัด ควรตั้งสติให้ดีและปฐมพยาบาลให้ถูกต้อง เพื่อให้พิษส่งผลกระทบกับผูถูกกัดน้อยที่สุด และสามารถนำส่งแพทย์ได้ทัน

ทำอย่างไร...ห่างไกลสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อมนั้นถือว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ภาวะปกติของผู้สูงอายุ สาเหตุเกิดจากลักษณะการใช้ชีวิตในแต่ละวันของคนเราว่าจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้หรือไม่ จึงควรรู้ถึงสาเหตุและวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสมองเสื่อม