"The beautiful Thing About Learning Is Nobody Can Take It Away From You - สิ่งที่วิเศษสุดสำหรับการเรียนรู้ คือไม่มีใครสามารถเอามันไปจากคุณได้"
B.B. King(บี.บี. คิง)

จอห์น หลุยส์ รูดอล์ฟ อักกะซี่(Jean Louis Rodolphe Agassiz)

หลุยส์ อักกะซี่ บิดาแห่งซากหินดึกดำบรรพ์หลุยส์ อักกะซี่

หลุยส์ อักกะซี่(Louis Agassiz) หรือชื่อเต็มว่า จอห์น หลุยส์ รูดอล์ฟ อักกะซี่(Jean Louis Rodolphe Agassiz) เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1807 ที่เมืองมอติเออร์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ บิดาเป็นพระสอนศาสนาชาวฝรั่งเศสแต่ลี้ภัยทางศาสนาเข้ามาอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากอักกะซี่จบการศึกษาขั้นต้นแล้ว เขาได้เข้าศึกษาต่อในวิชาแพทย์เนื่องจากคุณตาเป็นศัลยแพทย์ที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง พ่อและแม่จึงคาดหวังให้เขาเป็นศัลยแพทย์เช่นเดียวกับตา การศึกษาวิชาแพทย์ทำให้เขามีความรู้เกี่ยวกับกายวิภาคเป็นอย่างดีและเขายังใช้เวลาส่วนใหญ่ในการผ่าตัดสัตว์ที่เสียชีวิตเพื่อศึกษาอวัยวะภายในของสัตว์

ปี ค.ศ. 1826 เขาเดินทางไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยไฮเดนเบิร์ก ได้ศึกษาภาษากรีกและโรมัน รู้จักกับนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงหลายคนและร่วมมือกันก่อตั้งสมาคมวิทยาศาสตร์ชื่อว่า The Little Academy

แม้ว่าอักกะซี่จะมีความรู้ทางการแพทย์แต่สิ่งที่เขาสนใจกลับเป็นเรื่องของชีววิทยา อักกะซี่ทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับการค้นคว้าด้านธรรมชาติ ซึ่งต่อมาเขาได้เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งโดยใช้ชื่อว่า ประวัติของธรรมชาติวิทยา ซึ่งเขาเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาจากคำชักชวนของศาสตราจารย์คาร์ล ฟอน มาร์ติอุส(Carl Von Martius) ซึ่งเป็นอาจารย์ของเขา ผลงานชิ้นนี้สร้างชื่อเสียงให้กับอักกะซี่เป็นอย่างมาก ปี ค.ศ. 1829 เขาได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางปรัชญาศาสตร์

ต่อมาอักกะซี่ได้หยุดการศึกษาด้านธรรมชาติวิทยาและกลับไปค้นคว้าเกี่ยวกับวิชาแพทย์ตามที่ได้เรียนมา เขาได้เขียนหนังสือทางการแพทย์ขึ้นมาหลายเล่ม แต่หนังสือโรควิทยาคลอดบุตร ทำให้เขามีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักไปทั่วทวีปยุโรปและอเมริกา และทำให้เขาได้รับรางวัลดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางการแพทย์

จากชื่อเสียง ความรู้ ความสามารถของเขาและความช่วยเหลือของอเล็กซานเดอร์ ฟอน อัมโบลต์(Alexander von Humboldt)ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้ให้การสนับสนุนและให้คำแนะนำต่างๆ แก่อักกะซี่ ทำให้อักกะซี่ได้ทำงานเป็นศาสตราจารย์สอนวิชาธรรมชาติวิทยาประจำมหาวิทยาลัยนอยซาเติล(University of Neuchâtel) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ การเรียนการสอนของอักกะซี่ภายในมหาวิทยาลัยเป็นไปได้ด้วยดี แต่สิ่งที่เขาไม่ชอบคือการเรียนการสอนที่อยู่แต่ภายในห้องเรียน ดังนั้นเขาจึงเริ่มทำการสอนแบบใหม่ โดยการจัดสวนตามแบบของนักปรัชญาชาวกรีก

สิ่งต่อมาที่เขาศึกษาจนชำนาญคือ ซากพืชซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ มีนักธรรมชาติวิทยาที่มีชื่อเสียงหลายคนในยุโรปโดยเฉพาะในอังกฤษเชิญเขาไปสำรวจตัวอย่างฟอสซิลของสัตว์ต่างๆ ที่มีการรวบรวมเอาไว้ และเขายังได้รับรางวัล Wollaston Prize จากประเทศอังกฤษ ซึ่งทำให้เขาสามารถหาเงินทุนเพื่อศึกษาด้านนี้ต่อไปได้

หลังจากได้เงินสนับสนุน อักกะซี่เดินทางไปแม่น้ำโรนเพื่อศึกษาเรื่องธารน้ำแข็งโดยไม่สนใจคำทัดทานของเพื่อน เพราะบริเวณธารน้ำแข็งเป็นสถานที่อันตรายและเสี่ยงชีวิตมากที่จะลงไปใจกลางธารน้ำแข็ง อักกะซี่ลงไปใจกลางธารน้ำแข็งที่มีอัตราการเคลื่อนไหลของน้ำแข็งถึงวันละ 40 ฟุต เขาพบว่าบริเวณปากบ่อของธารน้ำแข็งเป็นสีฟ้าอ่อนแกมเขียวและเมื่อไต่ลึกลงไปสีของผนังบ่อเปลี่ยนไปเรื่อยๆและเปลี่ยนเป็นสีฟ้าตอนเที่ยงคืน อักกะซี่พบกับอากาศที่เย็นจัดของธารน้ำแข็งเมื่อลงไปลึก 120 ฟุต เขารีบกระตุกเชือกเพื่อให้คนที่คอยอยู่ด้านบนดึงตัวเขาขึ้นไปแต่ไม่สำเร็จ เขาจึงต้องตะโกนขอความช่วยเหลือ โชคดีที่คนด้านบนได้ยินจึงรีบดึงเขาขึ้นไป

หลังจากการสำรวจธารน้ำแข็งจบลง อักกะซี่ได้เขียนหนังสือขึ้นมาหลายเล่มโดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับยุคน้ำแข็งที่ชื่อว่า Le Systeme Glaciaire เป็นหนังสือเกี่ยวกับการสำรวจทางธรณีวิทยาที่ได้รับการยกย่องอย่างมาก และจากผลงานชิ้นนี้คณะกรรมการแห่ง Lowell Institute ได้เชิญเขาไปแสดงปาฐกถาที่บอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งอักกะซี่ก็ตอบรับคำเชิญโดยทันที เขาออกเดินทางไปบอสตันในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1846 นอกจากแสดงปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด(Harvard University)แล้วเขายังมีโอกาสรู้จักนักธรรมชาติวิทยาหลายคน ทำให้อักกะซี่มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้กับนักธรรมชาติวิทยาเหล่านี้

อักกะซี่มีโอกาสเดินทางไปมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์(University of Cambridge)เพื่อเก็บรวบรวมตัวอย่างเกี่ยวกับธรรมชาติวิทยา แต่ทำได้ไม่นานเขาก็ต้องเดินทางกลับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเพื่อเข้าทำงานในโรงเรียนการแพทย์ที่ชาร์ลสตัน(Charleston) ระหว่างนี้เขายังคงเก็บสะสมซากสิ่งมีชีวิตเพื่อจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยมีเพื่อนของเขาคนหนึ่งทำพินัยกรรมมอบเงินจำนวน 50,000 เหรียญเพื่อให้เขาสร้างพิพิธภัณฑ์ตามที่ตั้งใจไว้ อักกะซี่ใช้พื้นที่บริเวณมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเพื่อจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ และตั้งชื่อพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ว่า Museum of Comparative Zoology

จากความสำเร็จทั้งชื่อเสียงและเงินทองทำให้อักกะซี่มีโอกาสเดินทางไปศึกษาด้านธรรมชาติวิทยาตามสถานที่ต่างๆ มากขึ้น สถานที่แรกที่เดินทางไปสำรวจ คือ ประเทศบราซิล เพื่อรวบรวมพันธุ์ปลาน้ำจืดจากแม่น้ำในอเมริกาใต้ อักกะซี่นำประสบการณ์และความรู้ที่ได้จากการเดินทางแต่ละครั้งมาบรรยายให้กับสาธารณชนได้รับรู้ และนำสิ่งที่เขาเก็บมาได้มาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ของเขา

มีเศรษฐีคนหนึ่งชื่นชอบในผลงานของอักกะซี่และได้มอบที่ดินที่ Buzzards Bay พร้อมกับเงินจำนวนหนึ่งสำหรับสร้างโรงเรียนธรรมชาติวิทยาในฤดูร้อน วันที่ 4 มกราคม ค.ศ.1873 อักกะซี่เดินทางโดยเรือไปยัง Buzzards Bay เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงเรียนจนเสร็จ แต่ในปีเดียวกัน อักกะซี่ล้มป่วยและเสียชีวิตในวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 1873

 

ความรู้อื่นๆ ที่น่าสนใจ

7 ข้อแนะนำสำหรับขาแรงก่อนลงแข่งขันวิ่งระยะไกล

7 ข้อแนะนำเตรียมความพร้อมก่อนเข้าร่วมการแข่งขันวิ่งระยะไกล เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้าแข่งขัน

อริสโตเติล

นักธรรมชาติวิทยาคนแรกของโลก

วิลเลี่ยม ฮาร์วี่

นายแพทย์ชาวอังกฤษผู้ใช้เวลากว่า 10 ปีในการศึกษาระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกายว่าทำงานอย่างไร

ภาวะ "คลอดก่อนกำหนด"

เนื่องจากภาวะคลอดก่อนกำหนดจะทำให้ร่างกายของเด็กที่คลอดออกมายังไม่พร้อมต่อการเผชิญสภาพแวดล้อมภายนอก จึงต้องมีการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกงูกัด

เมื่อถูกงูกัด ควรตั้งสติให้ดีและปฐมพยาบาลให้ถูกต้อง เพื่อให้พิษส่งผลกระทบกับผูถูกกัดน้อยที่สุด และสามารถนำส่งแพทย์ได้ทัน

ทำอย่างไร...ห่างไกลสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อมนั้นถือว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ภาวะปกติของผู้สูงอายุ สาเหตุเกิดจากลักษณะการใช้ชีวิตในแต่ละวันของคนเราว่าจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้หรือไม่ จึงควรรู้ถึงสาเหตุและวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสมองเสื่อม