"ผู้หนักแน่นในสัจจะ พูดอย่างไรทำอย่างนั้น จึงจะได้รับความสำเร็จ พร้อมทั้งความศรัทธา เชื่อถือ และความยกย่องสรรเสริญจากคนทุกฝ่าย การพูดแล้วทำ คือพูดจริงทำจริง จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ในการส่งเสริมเกียรติคุณของบุคคลให้เด่นชัด"
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

หลุยส์ ปาสเตอร์(Louis Pasteur)

หลุยส์ ปาสเตอร์(Louis Pasteur)

หลุยส์ ปาสเตอร์(Louis Pasteur)เกิดเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1822 ที่เมืองโดล ประเทศฝรั่งเศส บิดาเป็นช่างฟอกหนังชื่อว่า ชอง โจเซฟ ปาสเตอร์(Jean Joseph Pasteur) ซึ่งเคยเป็นทหารในกองทัพพระเจ้านโปเลียนมหาราช ต่อมาครอบครัวของปาสเตอร์ได้ย้ายมาอยู่ที่เมืองอาร์บัวส์(Arbors) แม้ว่าฐานะครอบครัวจะไม่ดีนัก แต่บิดาก็ต้องการให้เขามีความรู้ที่ดี การศึกษาขั้นแรกของปาสเตอร์เริ่มต้นที่โรงเรียนประจำจังหวัดอาร์บัวส์ซึ่งวิชาวิทยาศาสตร์เป็นวิชาที่เขาเรียนได้ดีที่สุด และยังมีความสามารถในการวาดรูปอีกด้วย โดยเฉพาะภาพเหมือน(Portrait) ปัจจุบันภาพเหล่านั้นประดับไว้ที่สถาบันปาสเตอร์ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส(The Pasteur Institute in Paris) ด้วยความที่ปาสเตอร์เรียนดี มีความสามารถและความประพฤติเรียบร้อย จึงได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์ใหญ่ของวิทยาลัยอาร์บัวส์ให้ไปเรียนที่อีโคล นอร์เมลซูพีเรีย(École Normale Supérieure) ซึ่งเป็นสถาบันฝึกหัดครูชั้นสูงที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในกรุงปารีส เพราะอาจารย์ใหญ่ต้องการให้เขากลับมาเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยอาร์บัวส์นั่นเอง แต่ปาสเตอร์เรียนอยู่ที่นี่ได้ไม่นาน บิดาก็ต้องมารับกลับบ้านเพราะเขาป่วยเป็นโรคคิดถึงบ้าน(Home Sick) อย่างรุนแรง

ต่อมาเขาเข้าเรียนต่อวิชาอักษรศาสตร์ที่รอยัลคอลเลจ(Royal College) ในเบซานกอน(Besançon) เมื่อจบการศึกษา เขาได้เดินทางไปศึกษาต่อที่สถาบันฝึกหัดครูชั้นสูง(École Normale Supérieure) อย่างที่ตั้งใจไว้ ในระหว่างที่เขาศึกษาอยู่ที่นี่ เขามีโอกาสได้เรียนวิชาเคมีกับนักเคมีผู้มีชื่อเสียง 2 ท่าน คือ เจ.บี. ดีมาส์(J.B. Dumas) และ เอ.เจ. บาลาร์ด ซึ่งสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์(Sorbonne University) เนื่องจากมีบางวิชาที่ต้องไปเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ในช่วงปีสุดท้ายของการศึกษาที่อีโคล นอร์เมลซูพีเรีย ปาสเตอร์ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับผลึก(Crystallography) เมื่อปาสเตอร์จบการศึกษาในปี ค.ศ. 1852 เขาได้ทำการทดลองเกี่ยวกับกรดทาร์ทาริก(Tartaric acid)หรือกรดปูนที่ใช้ทำน้ำส้ม จากผลงานการทดลองชิ้นนี้เขาได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยสตราส์เบิร์ก(University of Strasbourg) ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์สอนวิชาเคมี

ปี ค.ศ. 1854 ปาสเตอร์ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยแห่งเมืองลิลล์(Lille University of Science and Technology) ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์วิชาเคมีและคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ด้วยความที่เมืองลิลล์เป็นเมืองอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีทั้งเหล้า เบียร์ และไวน์ เมื่อปาสเตอร์มีโอกาสเยี่ยมชมโรงงานทำแอลกอฮอล์จากน้ำตาลหัวผักกาดแห่งหนึ่ง ทำให้เขารู้ปัญหาของโรงงานเกี่ยวกับการเน่าเสียของแอลกอฮอล์ แต่ยังไม่สามารถหาสาเหตุได้ ปาสเตอร์จึงนำตัวอย่างแอลกอฮอล์ไปตรวจสอบ โดยส่วนแรกเป็นแอลกอฮอล์ที่ดีเมื่อใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องดูปรากฏว่า มีแบคทีเรียชนิดหนึ่งลำตัวกลมมีชื่อว่า ยีสต์(Yeast) ซึ่งมีฤทธิ์เปลี่ยนน้ำตาลให้กลายเป็นแอลกอฮอล์และได้พบแบคทีเรียอีกชนิดหนึ่งมีรูปร่างเป็นท่อนๆ แบคทีเรียชนิดนี้มีชื่อว่า บาซิลลัส(Bacillus) ซึ่งมีฤทธิ์สามารถเปลี่ยนน้ำตาลแดงให้เป็นกรดแลคติกและเป็นตัวการที่ทำให้แอลกอฮอล์มีคุณภาพต่ำ จากการค้นพบครั้งนี้ทำให้ปาสเตอร์เริ่มทำการทดลองเกี่ยวกับของหมักดอง และพบว่า การหมักดองทำให้เกิดกรดขึ้น 2 ชนิด ได้แก่ กรดซักซินิก(Succinic acid) และกลีเซอร์ไรน์(Glycerin) การค้บพบครั้งนี้มีประโยชน์อย่างมากในวงการอุตสาหกรรมและเป็นการบุกเบิกการค้นคว้าหาสารเคมีชนิดต่างๆ มากขึ้น ปาสเตอร์ได้ตั้งทฤษฎีการหมักดอง(Fermentation Theory) ไว้ว่า การหมักดองเป็นผลมาจากจุลินทรีย์

ปาสเตอร์ทำการค้นคว้าเกี่ยวกับจุลินทรีย์ต่อและพบว่า จุลินทรีย์ที่มีอยู่ทั่วไปในอากาศเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยและทำให้อาหารเน่าเสียได้ง่ายขึ้น การที่จะเก็บรักษาอาหารให้เน่าเสียช้าลงคือ ต้องฆ่าจุลินทรีย์เหล่านี้ให้หมด เขาทดลองฆ่าเชื้อจุลินทรีย์โดยนำนมมาต้มด้วยความร้อน 145 องศาฟาเรนไฮต์และทำให้นมเย็นลงอย่างรวดเร็วแล้วจึงนำนมไปบรรจุขวด จากนั้นใช้สำลีอุดปากขวดให้แน่นเพื่อป้องกันเชื้อจุลินทรีย์ ผลปรากฎว่านมสามารถคงความสดไว้ได้นานกว่าปกติ ปาสเตอร์ได้นำวิธีการดังกล่าวไปใช้กับเครื่องดื่มชนิดอื่น เช่น เหล้า เบียร์ น้ำกลั่นและไวน์ เป็นต้น วิธีการนี้เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อของ พาสเจอร์ไรเซชัน(Pasteurization) ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่แพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน จากการทดลองครั้งนี้ปาสเตอร์ยังพบวิธีการทำน้ำส้มสายชู โดยการนำจุลินทรีย์ที่ใช้ทำเหล้าองุ่นมาเพาะ แล้วเติมลงไปในเหล้าองุ่นที่ผ่านวิธีพาสเจอร์ไรส์ก็จะได้น้ำส้มสายชูที่มีคุณภาพดี

การค้นคว้าเรื่องจุลินทรีย์ของปาสเตอร์ไม่ได้หยุดแต่เพียงเท่านี้ ในปี ค.ศ. 1865 เขาพบว่าสาเหตุการเน่าเปื่อยของเซลล์ที่ตายแล้วก็มาจากเชื้อจุลินทรีย์เช่นเดียวกัน ปาสเตอร์กลัวว่าเมื่อฝังศพของสัตว์และมนุษย์ลงในดินแล้วจะทำให้เชื้อจุลินทรีย์ที่เกิดขึ้นอยู่ในดินและอาจปนเปื้อนไปกับน้ำบาดาล เมื่อคนนำน้ำบาดาลไปดื่มโดยไม่ต้มหรือฆ่าเชื้ออาจทำให้เจ็บป่วยได้ ซึ่งจากการค้นคว้าก็พบว่ามีจุลินทรีย์บางชนิดสามารถอยู่ในดินได้จริง เช่น เชื้อบาดทะยัก และแอนแทรกซ์ เป็นต้น

ต่อมาเกษตรกรผู้เลี้ยงไหมได้ขอความช่วยเหลือจากปาสเตอร์ให้ช่วยแก้ปัญหาโรคระบาดร้ายแรงที่เกิดกับตัวไหม ซึ่งทำความเสียหายอย่างหนักให้กับโรงงานอุตสาหกรรมผ้าไหม เขาได้ทำการค้นคว้าเรื่องนี้อยู่นานถึง 5 ปี จึงพบว่าโรคนี้เกิดขึ้นจากเชื้อจุลินทรีย์ชื่อว่า โนสิมาบอมบายซิล(Nosema bombycis) ซึ่งตัวหนอนกินเข้าไป ปาสเตอร์จึงอธิบายวิธีการป้องกันโรคนี้ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงไหมฟังอย่างละเอียด ซึ่งสามารถป้องกันโรคนี้ได้เป็นอย่างดี จากความสามารถของปาสเตอร์ ในปี ค.ศ. 1873 เขาได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมอะคาเดมี่ ออฟ เมดิซีน(Academy of Medicine)

ในปี ค.ศ. 1887 ปาสเตอร์ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับโรคแอนแทรกซ์(Anthrax) โดยใช้ปัสสาวะของสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคแอนแทรกซ์มาเพาะให้เชื้ออ่อนลงแล้วนำไปทำวัคซีน ปาสเตอร์ได้รับการสนับสนุนจากสมาคมเกษตร(Agriculture Society) โดยมอบแกะเพื่อใช้ทดสอบวัคซีนถึง 50 ตัว ปาสเตอร์แบ่งแกะออกเป็น 2 กลุ่มๆละ 25 ตัว โดยฉีดวัคซีนป้องกันโรคแอนแทรกซ์ให้กับกลุ่มแรกเท่านั้น หลังจากนั้นจึงฉีดเชื้อโรคแอนแทรกซ์ให้กับแกะทั้งหมด ผลปรากฏว่าแกะกลุ่มที่ฉีดวัคซีนไม่ป่วยเป็นโรคแอนแทรกซ์เลย แต่แกะที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป่วยและตายหมดทุกตัว

จากผลงานการค้นคว้าชิ้นนี้ ทางรัฐบาลประเทศฝรั่งเศสได้ขอร้องและมอบเงินสนับสนุนให้กับปาสเตอร์ในการค้นคว้าหาวัคซีนป้องกันโรคอหิวาตกโรคในไก่ ปาสเตอร์ทำการทดลองจนสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโรคอหิวาตกโรคในไก่ได้สำเร็จ โดยเขาผลิตวัคซีนชนิดนี้จากซุปกระดูกไก่

การค้นพบวัคซีนที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขามากที่สุดคือ วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า แม้ว่าจะไม่ใช่โรคระบาดที่ร้ายแรงแต่ก็สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนอย่างมากเพราะคนที่ถูกสุนัขบ้ากัดและสัตว์ที่ป่วยด้วยโรคนี้ก็จะตายโดยไม่มีวิธีรักษา ปาสเตอร์พบว่าเชื้อสุนัขบ้าอยู่ในน้ำลาย เมื่อถูกน้ำลายของสุนัขที่มีเชื้อไม่ว่าจะถูกเลียบริเวณที่เป็นแผลหรือถูกกัด เชื้อสุนัขบ้าก็จะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผลนั้น ปาสเตอร์นำเชื้อมาเพาะเพื่อทำวัคซีนและนำไปทดลองกับสัตว์ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี แต่เขายังไม่กล้านำมาทดลองกับคน จนกระทั่งวันหนึ่งโจเวฟ เมสเตอร์เด็กชายวัย 9 ปีถูกสุนัขบ้ากัด พ่อแม่ของเด็กได้พาบุตรชายมาให้ปาสเตอร์รักษา ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ปาสเตอร์จะได้ทดสอบวัคซีน ปรากฏว่าเด็กน้อยไม่ป่วยเป็นโรคสุนัขบ้า การค้นพบครั้งนี้ทำให้เขามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากขึ้น

ในปี ค.ศ. 1888 ปาสเตอร์ได้ก่อตั้งสถาบันปาสเตอร์(Pasteur Institute) ขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสเป็นแห่งแรก และอีกหลายแห่งในประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยด้วย โดยสถาบันปาสเตอร์ในประเทศไทยใช้ชื่อว่า สถานเสาวภา สถาบันปาสเตอร์ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานที่ค้นคว้าเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคติดต่อต่างๆ เช่นโรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้น

ปาสเตอร์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 1895

 

ความรู้อื่นๆ ที่น่าสนใจ

7 ข้อแนะนำสำหรับขาแรงก่อนลงแข่งขันวิ่งระยะไกล

7 ข้อแนะนำเตรียมความพร้อมก่อนเข้าร่วมการแข่งขันวิ่งระยะไกล เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้าแข่งขัน

อริสโตเติล

นักธรรมชาติวิทยาคนแรกของโลก

วิลเลี่ยม ฮาร์วี่

นายแพทย์ชาวอังกฤษผู้ใช้เวลากว่า 10 ปีในการศึกษาระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกายว่าทำงานอย่างไร

ภาวะ "คลอดก่อนกำหนด"

เนื่องจากภาวะคลอดก่อนกำหนดจะทำให้ร่างกายของเด็กที่คลอดออกมายังไม่พร้อมต่อการเผชิญสภาพแวดล้อมภายนอก จึงต้องมีการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกงูกัด

เมื่อถูกงูกัด ควรตั้งสติให้ดีและปฐมพยาบาลให้ถูกต้อง เพื่อให้พิษส่งผลกระทบกับผูถูกกัดน้อยที่สุด และสามารถนำส่งแพทย์ได้ทัน

ทำอย่างไร...ห่างไกลสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อมนั้นถือว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ภาวะปกติของผู้สูงอายุ สาเหตุเกิดจากลักษณะการใช้ชีวิตในแต่ละวันของคนเราว่าจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้หรือไม่ จึงควรรู้ถึงสาเหตุและวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสมองเสื่อม