"การใช้จ่ายอย่างประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเอง และครอบครัว ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ที่ประหยัดเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย"
พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

เพลโต(Plato)

เพลโต นักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงและเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลกเพลโต

เพลโต(Plato)เกิดเมื่อ 427 ก่อนคริสตกาล ที่กรุงเอเธนส์(Athens)ในประเทศกรีซ(Greece) และ เสียชีวิตเมื่อ 347 ก่อนคริสตกาล ที่กรุงเอเธนส์(Athens)ในประเทศกรีซ(Greece)

ครอบครัวของเพลโตนั้นถือว่าเป็นครอบครัวที่มั่งคั่งและเก่าแก่ครอบครัวหนึ่ง บิดาของเพลโตมีชื่อว่า อริสตัน(Ariston) และมารดาชื่อ เพริเทียน(Peritione) เพลโตเกิดมาภายใต้ความวุ่นวายทางการเมืองของกรีซ เนื่องจากเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างชาวสปาร์ตา(Sparta) และชาวนครเอเธนส์ สงครามครั้งนี้ยุติลงด้วยชัยชนะของชาวสปาร์ตา ทำให้ชาวนครเอเธนส์ถูกกดขี่ข่มเหงอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ทำให้เพลโตมีแนวความคิดต่อต้านการเมืองอย่างรุนแรง เขาจึงมุ่งมั่นอยู่กับการศึกษาและได้รับการศึกษาขั้นต้นเช่นเดียวกับลูกผู้ดีคนอื่นในสมัยนั้น คือ ปรัชญา ดนตรี บทกวี และวาทศิลป์ จากอาจารย์ท่านหนึ่งที่เป็นลูกศิษย์ของเฮราคลิตุส(Heraclitus) ต่อมาเพลโตได้ไปศึกษาต่อในวิชาขั้นที่สูงขึ้นไปอีกกับโสเครติส

ในระหว่างนั้นความเป็นไปในนครเอเธนส์ล้วนมีแต่ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศีลธรรม การเมือง และอาชญากรรม เพลโตและโสเครติสจึงได้ร่วมมือกันเพื่อจะขจัดปัญหาเหล่านี้ให้หมดไป แต่เป็นที่น่าเสียดายที่โสเครติสต้องถูกประหารชีวิตเสียก่อน เนื่องจากรัฐบาลต้องการกำจัดบุคคลผู้ที่มีความคิดต่อต้านรัฐบาล ทำให้อุดมการณ์ทางการเมืองของเพลโตต้องหยุดชะงัก เพลโตจึงเดินทางท่องเที่ยวไปตามเมืองต่างๆ นานกว่า 10 ปี หลังจากนั้นเขาก็้เดินทางกลับกรุงเอเธนส์และดำเนินการด้านการเมืองต่อไป

ช่วงที่ออกจากกรุงเอเธนส์ เพลโตได้เดินทางไปที่เมืองเมการา เพื่อไปหายูคลิด(Euclid) และได้พักอยู่กับยูคลิดเป็นเวลานาน เพลโตและยูคลิดร่วมกันตั้งโรงเรียนขึ้นมาแห่งหนึ่งชื่อว่า สำนักปรัชญาเมการิก โดยได้ร่วมกับนักปรัชญาอีกท่านหนึ่งชื่อว่าพาร์มีนิดิส(Parmenides) ทำให้เพลโตได้ศึกษาหลักปรัชญาจากพาร์มีนิดิสได้อย่างลึกซึ้ง

ต่อจากนั้นเพลโตได้ออกเดินทางไปยังเมืองต่างๆ อีกหลายเมือง เช่น อิตาลี อียิปต์ และซิซิลี เป็นต้น ในระหว่างนี้เขาได้ศึกษาหาความรู้จากสำนักที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง เช่น สำนักพีทาโกเรียน(Pythagorean)ของพีทาโกรัสที่อิตาลี ส่วนที่เกาะซิซิลี เพลโตได้เข้าศึกษา ณ สำนักของพระเจ้าไดโนซีอุสที่ 1 แห่งไซราคิวส์(King Dionysius I of Syracuse) นอกจากจะศึกษาหาความรู้แล้ว เพลโตยังได้เผยแพร่แนวความคิดทางปรัชญาของเขาให้กับคนทั่วไปได้รับรู้ โดยการไปบรรยายตามสถานที่ต่างๆ แต่เพลโตกลับถูกต่อต้านและส่งผลร้ายกลับมาสู่ตัวเขาเองคือ เขาถูกจับไปขายเป็นทาสแต่โชคดีที่เพื่อนของเขาผู้หนึ่งได้ไปไถ่ถอนตัวเขาออกมา

เมื่อเพลโตเดินทางมาถึงกรุงเอเธนส์ ประมาณ 387 ก่อนคริสตกาล เขาได้ตั้งโรงเรียนขึ้นแห่งหนึ่งที่กรุงเอเธนส์ชื่อว่า อะคาเดมี่(Academy) ซึ่งเป็นโรงเรียนที่สอนเกี่ยวกับวิชาปรัชญา วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ อีกทั้งเขายังได้สร้างสวนเพื่อออกกำลังกายสำหรับนักศึกษาในอะคาเดมี่อีกด้วย หลักการสอนของเพลโตมีอยู่ว่า ความรู้ทางการบริหาร วรรณคดีและดนตรี เป็นการศึกษาเบื้องต้น ซึ่งเป็นรากฐานของการศึกษาวิชาปรัชญา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาในขั้นสูงต่อไป ส่วนการเรียนการสอนในสถาบันแห่งนี้ก็ทันสมัยต่างจากการเรียนการสอนแบบดั้งเดิมของกรีซในสมัยนั้น ที่ลูกศิษย์มีหน้าที่นั่งฟังเพียงอย่างเดียว เชื่อในสิ่งที่ครูบอกทั้งหมด ห้ามโต้แย้งอย่างเด็ดขาด แต่เพลโตได้ใช้วิธีการตั้งคำถามเพื่อให้ลูกศิษย์มีโอกาสได้พูด ใช้เหตุผลในการตอบคำถามและค้นคว้าหาความจริงด้วยตนเอง ซึ่งเพลโตได้นำแนวการสอนแบบนี้มาจากโสเครติส โรงเรียนของเพลโตแห่งนี้มีผู้นิยมส่งบุตรหลานเข้ามาศึกษาเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้สถาบันอะคาเดมี่ของเพลโตยังได้รับการยกย่องให้เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลกอีกด้วย

อริสโตเติล นักธรรมชาติวิทยาคนแรกของโลกอริสโตเติล

การทำงานของเพลโตในสถาบันอะคาเดมี่เป็นไปได้ด้วยดี ในระหว่างนี้เขายังได้ศึกษาหาความรู้หลายด้านทั้งปรัชญา จิตวิทยา ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้เขายังได้รวบรวมแนวความคิดของนักปรัชญาทั้งหลายเพื่อใช้สอนในสถาบัน และก็ได้ตั้งหลักปรัชญาขึ้นมาใหม่อีกหลายอย่าง โดยงานของเพลโตสามารถแบ่งออกมาได้ถึง 3 ระยะ คือ

- ระยะแรก ประมาณบั้นปลายชีวิตของโสเครติส งานเขียนในระยะนี้จะมีแนวความคิดคล้ายคลึงกับโสเครติสมากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณธรรมและความดี เช่น เลกีส(Leges)เป็นเรื่องราวของการค้นคว้าหาความกล้า ไลสีส(Lysis)เป็นเรื่องราวของการค้นหามิตรภาพ และคาร์มีดีส(Charmedes) นอกจากนี้เพลโตยังได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับชีวประวัติของโสเครติสและเหตุการณ์ต่างๆ ในกรุงเอเธนส์

- ระยะที่สอง คือช่วงที่เขาออกเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งงานของเขาค่อนข้างจะมีหลากหลาย เนื่องจากเขาได้รับอิทธิพลทางความคิดจากนักปรัชญาหลายท่าน และในช่วงนี้เองที่เขาได้ตั้ง ทฤษฎีที่ว่าด้วยแบบ(Theory of Forms) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่มาจากแนวความคิดของโสเครติสที่ว่า "ความรู้ทั้งปวงมาจากแบบ" และทฤษฎีนี้เป็นหัวใจหลักของปรัชญาทั้งหมดของเพลโต แต่ทฤษฎีของเพลโตแตกต่างจากโสเครติส เนื่องจากเพลโตนำมาขยายเนื้อหาทางอภิปรัชญาที่กว้างขวางขึ้น โดยแบบของเพลโตมีความเป็นอิสระและอยู่เหนือจิต เขาได้นำหลักปรัชญานี้มาจากการพิจารณาความเป็นไปของธรรมชาติอีกส่วนหนึ่ง และทฤษฎีนี้ยังได้กำหนดแนวความคิดทางวิทยาศาสตร์ด้วย โดยเพลโตกล่าวว่า "การรับรู้จากสัมผัสทั้งหลาย ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ จะแตกต่างกันไปตามความคิดหรือสถานการณ์นั้น" เช่น การที่มองเห็นสัตว์ตัวหนึ่ง จะไม่สามารถบอกได้ว่ามันมีขนาดใหญ่หรือเล็ก มันอาจจะมีขนาดใหญ่ถ้าไปเปรียบเทียบกับสัตว์ที่มีขนาดเล็กกว่า หรืออาจจะมีขนาดเล็กถ้าไปเปรียบเทียบกับสัตว์ที่มีขนาดใหญ่กว่า เป็นต้น และจากทฤษฎีข้างต้นเพลโตสรุปว่า "โดยตัวของมันเองไม่มีสรรพสิ่งใดๆ ในโลกนี้ที่มีลักษณะแน่นอนตายตัว"

- ระยะที่สาม เนื่องจากประสบการณ์และความรู้ที่มากมายของเพลโต ภายหลังจากที่ตั้งสำนักอะคาเดมี่แล้ว ทำให้เขามีผลงานจำนวนมากที่สุด ได้แก่ ปรัชญา จริยศาสตร์ การเมือง การศึกษา และวิทยาศาสตร์ซึ่งสิ่งเหล่านี้เขาได้นำมาถ่ายทอดให้กับลูกศิษย์ที่สถาบันอะคาเดมี่ และงานชิ้นสำคัญที่สุดในช่วงนี้ก็คืองานเขียนที่ชื่อว่า รีพับลิค(Republic) ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเมืองในความคิดของเพลโต แนวความคิดภายในหนังสือเล่มนี้ เกิดขึ้นจากสภาพการเมืองในกรุงเอเธนส์ที่วุ่นวายอย่างมากในขณะนั้น หนังสือเล่มนี้ถือได้ว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับการเมืองที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเล่มหนึ่ง ทั้งในขณะนั้นและปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้ได้เป็นหนังสือเรียนในวิชารัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด เป็นต้น

กฎที่สำคัญทางวิทยาศาสตร์อีกชิ้นหนึ่งของเพลโตคือ กฎเกี่ยวกับแสง ที่ว่า "แสงเดินทางเป็นเส้นตรง เมื่อแสงมากระทบวัตถุ มุมแสงตกกระทบจะเท่ากับมุมแสงสะท้อน" เป็นกฎที่ถูกต้องและยึดถือกันมาจนถึงปัจจุบัน

แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านมานานกว่า 2,500 ปีแล้ว แต่หลักการปรัชญาของเพลโตก็ยังคงมีอิทธิพลต่อแนวความคิดของการศึกษาด้านต่างๆ ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นปรัชญาจิตวิทยา ธรรมชาติ หรือแม้แต่วิทยาศาสตร์ เพลโตเป็นนักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของโลกและเป็นอาจารย์ของนักปรัชญาและนักวิทยาศาสตร์เอกของโลกอย่าง อริสโตเติล

 

ความรู้อื่นๆ ที่น่าสนใจ

7 ข้อแนะนำสำหรับขาแรงก่อนลงแข่งขันวิ่งระยะไกล

7 ข้อแนะนำเตรียมความพร้อมก่อนเข้าร่วมการแข่งขันวิ่งระยะไกล เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้าแข่งขัน

อริสโตเติล

นักธรรมชาติวิทยาคนแรกของโลก

วิลเลี่ยม ฮาร์วี่

นายแพทย์ชาวอังกฤษผู้ใช้เวลากว่า 10 ปีในการศึกษาระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกายว่าทำงานอย่างไร

ภาวะ "คลอดก่อนกำหนด"

เนื่องจากภาวะคลอดก่อนกำหนดจะทำให้ร่างกายของเด็กที่คลอดออกมายังไม่พร้อมต่อการเผชิญสภาพแวดล้อมภายนอก จึงต้องมีการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกงูกัด

เมื่อถูกงูกัด ควรตั้งสติให้ดีและปฐมพยาบาลให้ถูกต้อง เพื่อให้พิษส่งผลกระทบกับผูถูกกัดน้อยที่สุด และสามารถนำส่งแพทย์ได้ทัน

ทำอย่างไร...ห่างไกลสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อมนั้นถือว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ภาวะปกติของผู้สูงอายุ สาเหตุเกิดจากลักษณะการใช้ชีวิตในแต่ละวันของคนเราว่าจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้หรือไม่ จึงควรรู้ถึงสาเหตุและวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสมองเสื่อม