"ความจริงใจต่อผู้อื่น เป็นคุณธรรมสำคัญมากสำหรับผู้ที่ต้องการความสำเร็จและความเจริญ เพราะช่วยให้สามารถขจัดปัดเป่าปัญหาได้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาอันเกิดจากความกินแหนงแคลงใจและเอารัดเอาเปรียบกัน นอกจากนั้นยังทำให้ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจ และความร่วมมือสนับสนุนจากทุกคน ทุกฝ่ายที่ถือมั่นในเหตุผลและความดี ผู้ที่มีความจริงใจจะทำการสิ่งใดก็มักสำเร็จได้โดยราบรื่น"
พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

มารู้จักและช่วยเด็กสมาธิสั้นกันเถอะ ตอนที่ 3

เด็กจำเป็นต้องรับประทานยาไปนานแค่ไหน

ขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละราย เด็กบางคนที่อาการไม่รุนแรง ไม่มีโรคแทรกซ้อน พ่อแม่ ครูเข้าใจและให้ความช่วยเหลือเต็มที่ มีการฝึกฝนทักษะต่างๆให้เด็ก เช่น ทักษะการควบคุมตัวเอง ทักษะในการจัดระเบียบของการทำงาน สิ่งของ ทักษะการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอย่างเหมาะสม ฯลฯ เด็กกลุ่มนี้อาจจะมีโอกาสหายจากโรคนี้ได้และไม่จำเป็นต้องรับประทานยาตลอดชีวิต แต่จะมีเด็กอยู่ประมาณ 50% ที่มีอาการรุนแรง มีภาวะแทรกซ้อน เด็กกลุ่มนี้อาจมีอาการติดตัวจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่และจำเป็นต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง โดยทั่วไป พ่อแม่มักจะให้ลูกหยุดรับประทานยาช่วงโรงเรียนปิดเทอมหากเด็กไม่มีกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิและอยู่บ้านเฉยๆ แพทย์มักจะใช้โอกาสนี้ประเมินเด็กว่า อาการเป็นอย่างไรเมื่อหยุดยา หากหลังจากหยุดยาแล้วพบว่าเด็กยังคงอยู่ไม่นิ่ง มีพฤติกรรมรบกวนผู้อื่นหรือยังขาดสมาธิ แสดงว่าเด็กยังไม่หายและควรรับประทานยาต่อไป มีความเป็นไปได้น้อยที่เด็กจะหายจากสมาธิสั้นก่อนอายุ 12 ปี ดังนั้นเด็กในวัยประถมควรได้รับการรักษาด้วยยาอย่างต่อเนื่อง

ยาจะมีผลในระยะยาวต่อร่างกายและสมองของเด็กหรือไม่

พ่อแม่หลายท่านมักจะกังวลว่าจะมีผลเสียกับเด็กหากเด็กรับประทานยาติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ เช่น เกรงว่าเด็กจะไม่โต ตัวเล็ก สมองเสื่อม ไม่ฉลาด เป็นต้น ยาที่แพทย์ใช้รักษาสมาธิสั้นมากที่สุดคือ ยาในกลุ่ม psychostimulants ซึ่งเป็นยาที่มีใช้กันมานานกว่า 60 ปีแล้ว มีการวิจัยมากมายที่ยืนยันความปลอดภัยของยาในกลุ่มนี้ โดยพบว่า เด็กสมาธิสั้นที่รับประทานยาในกลุ่มนี้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ มีการเจริญเติบโตเท่ากับเด็กปกติและมีพัฒนาการทางสมองเป็นปกติ

เด็กรับประทานยาไปนานๆมีโอกาสติดยาหรือไม่

การวิจัยจากหลายประเทศพบว่าโอกาสที่เด็กจะติดยาที่ใช้รักษาโรคสมาธิสั้นหรือนำไปใช้เสพในทางที่ผิดมีน้อยมากหากอยู่ในความดูแลของแพทย์ นอกจากนี้การวิจัยล่าสุดพบว่า เด็กสมาธิสั้นที่ได้รับการรักษาด้วยการรับประทานยาสม่ำเสมอมีโอกาสติดยาเสพติดน้อยกว่าเด็กสมาธิสั้นที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยยาถึง 5 เท่า ดังนั้นการรักษาเด็กสมาธิสั้นด้วยยาอย่างมีประสิทธิภาพจะเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงของเด็กที่จะไปติดสารเสพติดในอนาคต ผลอันนี้อธิบายได้จากการที่เด็กสมาธิสั้นเมื่อได้รับการรักษาด้วยยามักจะประสบความสำเร็จด้านการเรียนมากขึ้น เป็นที่ยอมรับของเพื่อนและคนรอบข้างมากขึ้น เด็กจึงเกิดความรู้สึกที่ดีต่อตัวเอง มีความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง(self-esteem) สูงขึ้น นำไปสู่การคบเพื่อนที่ดี ทำให้โอกาสที่จะไปใช้ยาเสพติดลดลง เม็ดของยาชนิดที่รับประทานเพียงครั้งเดียวตอนเช้าแต่ฤทธิ์ของยาอยู่ได้ถึงช่วงเย็น(long-acting methylphenidate(Concerta®)) มีลักษณะเป็นแคปซูลที่ทำให้แตกได้ยาก ดังนั้นโอกาสที่เด็กจะนำยาตัวนี้ไปใช้ในทางที่ผิดยิ่งมีน้อยกว่ายาที่ออกฤทธิ์เร็วและสั้น

เด็กไม่ยอมกินยา อ้างว่าลืมบ่อยๆจะทำอย่างไร

อันดับแรกพ่อแม่ควรพูดคุยกับเด็กว่าเขารู้สึกอย่างไรกับการรับประทานยา เช่น รู้สึกไม่พอใจ ไม่คิดว่าตัวเองมีอะไรผิดปกติที่ทำให้จำเป็นต้องรับประทานยาหรือรู้สึกอายเพื่อน ฯลฯ พ่อแม่ควรพูดคุยกับเด็กว่าเขาจะได้รับประโยชน์อะไรบ้างจากการรับประทานยา หากเป็นเด็กเล็ก พ่อแม่อาจขอความร่วมมือจากคุณครูประจำชั้นให้ช่วยดูแลเรื่องการรับประทานยามื้อเที่ยงของเด็ก หากเป็นเด็กโตอาจให้รับประทานยาชนิดที่รับประทานเพียงครั้งเดียวตอนเช้าแต่ฤทธิ์ของยาอยู่ได้ถึงช่วงเย็นเช่น ยา long-acting methylphenidate(Concerta®) เป็นต้น

จะพูดกับเด็กอย่างไรว่าทำไมเขาจึงต้องรับประทานยา

พ่อแม่ไม่ควรโกหกเด็กเวลาให้เด็กรับประทานยารักษาสมาธิสั้น บางท่านหลอกเด็กว่าเป็นวิตามิน บางท่านใช้ยามาขู่เด็กว่าหากทำตัวไม่ดีต้อง "กินยาแก้ดื้อ" ทำให้เด็กเกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อการรับประทานยา ควรพูดกับเด็กตรงๆว่าพ่อแม่ต้องการให้เด็กรับประทานยาเพื่ออะไร โดยเน้นประโยชน์ที่เด็กจะได้รับจากการรับประทานยา และพูดถึงยาในแง่บวก เช่น

"หนูจำเป็นต้องรับประทานยานี้ เพราะยานี้จะช่วยให้หนูคุมตัวเองได้ดีขึ้น น่ารักมากขึ้น มีสมาธิมากขึ้น"

"เป็นยาเด็กเรียบร้อย เพราะเวลาที่หนูกินยานี้แล้ว หนูเรียบร้อยขึ้นเยอะเลย"

"เป็นยาเด็กดี เพราะเวลาที่หนูกินยานี้แล้ว หนูเป็นเด็กดี..น่ารัก..ว่านอนสอนง่ายขึ้นเยอะเลย"

"เป็นยาเด็กเรียนเก่ง เพราะเวลาที่หนูกินยานี้แล้ว แม่สังเกตว่าหนูเรียนดีขึ้น รับผิดชอบทำการบ้านดีกว่าแต่ก่อนเยอะเลย"

นอกจากการรักษาด้วยยาแล้ว มีวิธีอื่นอีกหรือไม่ที่จะช่วยเด็กสมาธิสั้นได้

พ่อแม่ไม่ควรพึ่งการรักษาด้วยยาอย่างเดียว เนื่องจากการรักษาด้วยยาเป็นการรักษาตามอาการเท่านั้น แต่ไม่ใช่เป็นการช่วยให้เด็ก "หาย" จากการเป็นโรคสมาธิสั้น ดังนั้นเด็กควรได้รับการฝึกและช่วยเหลือด้านอื่นๆร่วมกับการรับประทานยาเสมอ เด็กสมาธิสั้นควรมีโอกาสได้คุยกับแพทย์ เพื่อแพทย์จะได้ช่วยให้ความรู้เกี่ยวกับข้อจำกัดที่ตัวเด็กมีและช่วยแนะนำแนวทางปฏิบัติตัวเพื่อให้เด็กได้ใช้ความสามารถด้านอื่นทดแทนในส่วนที่บกพร่อง ในบางรายครอบครัวบำบัดก็มีความจำเป็นสำหรับครอบครัวที่มีปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในครอบครัว เพื่อลดความวิตกกังวลและความเครียดของเด็ก การปรับพฤติกรรมเด็กโดยการปรับวิธีการเลี้ยงดูของพ่อแม่และการช่วยเหลือในห้องเรียนโดยคุณครูเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยาเสมอ

มารู้จักและช่วยเด็กสมาธิสั้นกันเถอะ ตอนที่ 2

มารู้จักและช่วยเด็กสมาธิสั้นกันเถอะ ตอนที่ 4

 

ความรู้อื่นๆ ที่น่าสนใจ

7 ข้อแนะนำสำหรับขาแรงก่อนลงแข่งขันวิ่งระยะไกล

7 ข้อแนะนำเตรียมความพร้อมก่อนเข้าร่วมการแข่งขันวิ่งระยะไกล เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้าแข่งขัน

อริสโตเติล

นักธรรมชาติวิทยาคนแรกของโลก

วิลเลี่ยม ฮาร์วี่

นายแพทย์ชาวอังกฤษผู้ใช้เวลากว่า 10 ปีในการศึกษาระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกายว่าทำงานอย่างไร

ภาวะ "คลอดก่อนกำหนด"

เนื่องจากภาวะคลอดก่อนกำหนดจะทำให้ร่างกายของเด็กที่คลอดออกมายังไม่พร้อมต่อการเผชิญสภาพแวดล้อมภายนอก จึงต้องมีการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกงูกัด

เมื่อถูกงูกัด ควรตั้งสติให้ดีและปฐมพยาบาลให้ถูกต้อง เพื่อให้พิษส่งผลกระทบกับผูถูกกัดน้อยที่สุด และสามารถนำส่งแพทย์ได้ทัน

ทำอย่างไร...ห่างไกลสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อมนั้นถือว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ภาวะปกติของผู้สูงอายุ สาเหตุเกิดจากลักษณะการใช้ชีวิตในแต่ละวันของคนเราว่าจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้หรือไม่ จึงควรรู้ถึงสาเหตุและวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสมองเสื่อม