"The beautiful Thing About Learning Is Nobody Can Take It Away From You - สิ่งที่วิเศษสุดสำหรับการเรียนรู้ คือไม่มีใครสามารถเอามันไปจากคุณได้"
B.B. King(บี.บี. คิง)

มารู้จักและช่วยเด็กสมาธิสั้นกันเถอะ ตอนที่ 2

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคสมาธิสั้นได้อย่างไร

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคสมาธิสั้นได้โดยอาศัยประวัติที่ละเอียด การตรวจร่างกาย การตรวจระบบประสาท และการสังเกตพฤติกรรมของเด็กเป็นหลัก ในปัจจุบันยังไม่มีการตรวจเลือดหรือเอ็กซเรย์สมองที่สามารถนำมาใช้ในการวินิจฉัยโรคสมาธิสั้น ในบางกรณีแพทย์จำเป็นต้องอาศัยการตรวจอื่นๆ เช่น การตรวจสายตา(Vision Test) การตรวจการได้ยิน(Hearing Test) การตรวจคลื่นสมอง(EEG) การตรวจเชาวน์ปัญญา(IQ test) และความสามารถทางการเรียน เพื่อช่วยวินิจฉัยแยกโรคลมชัก ความบกพร่องทางสายตา การได้ยิน หรือภาวะการเรียนบกพร่อง(Learning Disorder) ออกจากโรคสมาธิสั้น นอกจากนี้ โรคออทิสติก โรคจิตเภท ภาวะพัฒนาการล่าช้า และโรคทางจิตเวชอื่นๆในเด็ก เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า สามารถทำให้เด็กแสดงอาการหรือมีพฤติกรรมคล้ายกับเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น

อะไรเป็นสาเหตุของโรคสมาธิสั้น

การวิจัยในปัจจุบันพบว่า เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นมีความบกพร่องหรือมีปริมาณสารเคมีที่สำคัญบางตัว(Dopamine และ Noradrenaline) ในสมองน้อยกว่าเด็กปกติ โดยมีกรรมพันธุ์เป็นปัจจัยที่สำคัญ ประมาณ 30-40% ของเด็กสมาธิสั้นจะมีสมาชิกในครอบครัวคนใดคนหนึ่งเป็นโรคสมาธิสั้นด้วยหรือมีปัญหาอย่างเดียวกัน ปัจจัยจากการเลี้ยงดูหรือสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงปัจจัยเสริมที่ทำให้อาการหรือความผิดปกติดีขึ้นหรือแย่ลงแต่ไม่ใช่สาเหตุหลัก มารดาที่ขาดสารอาหาร ดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือถูกสารพิษบางชนิด(เช่น ตะกั่ว) ในระหว่างตั้งครรภ์จะมีโอกาสมีลูกเป็นโรคสมาธิสั้นสูงขึ้น การวิจัยในปัจจุบันไม่พบว่าการบริโภคน้ำตาลหรือช็อกโกแลตมากเกินไปทำให้เด็กซนมากขึ้น การดูทีวีหรือเล่นวิดีโอเกมมากเกินไปก็ไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เด็กเป็นโรคสมาธิสั้น

เด็กสามารถนั่งดูทีวี หรือเล่นวิดีโอเกมได้นานเป็นชั่วโมง ทำไมหมอถึงยังบอกว่า เด็กเป็นโรคสมาธิสั้น

เพราะในขณะที่เด็กดูทีวีหรือเล่นวิดีโอเกม เด็กจะถูกกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง โดยภาพบนจอทีวีหรือวิดีโอเกมที่เปลี่ยนทุก 2-3 วินาทีสามารถดึงดูดความสนใจของเด็กได้ สมาธิของเด็กมีขึ้นได้จากสิ่งเร้าภายนอกซึ่งตรงกันข้ามกับสมาธิที่เด็กต้องสร้างขึ้นมาเองระหว่างการอ่านหนังสือหรือทำงานต่างๆ เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะขาดสมาธินี้ ดังนั้นถึงแม้ว่าเด็กจะสามารถดูทีวีหรือเล่นวิดีโอเกมได้นานๆ เด็กก็มีสิทธิ์ที่จะเป็นโรคสมาธิสั้นได้

วิธีการรักษาโรคสมาธิสั้นมีอะไรบ้าง

การรักษาเด็กสมาธิสั้นที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดคือ การผสมผสานการรักษาหลายๆด้านดังต่อไปนี้เข้าด้วยกัน

ก. การรักษาด้วยยา

ข. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการช่วยเหลือทางด้านจิตใจสำหรับเด็กและครอบครัว

ค. การช่วยเหลือทางด้านการเรียน

ยาอะไรที่ใช้รักษาโรคสมาธิสั้นและยาจะช่วยเด็กอย่างไร

ยาที่ได้ผลดีที่สุดสำหรับโรคสมาธิสั้น คือ ยาในกลุ่ม Psychostimulants ซึ่งได้แก่ methylphenidate (Ritalin®), long-acting methylphenidate(Concerta®), dextroamphetamine(Dexedrine®), Adderall และ pemoline(Cylert®) ยาเหล่านี้เป็นยาที่ปลอดภัย มีผลข้างเคียงน้อยและมีประสิทธิภาพในการรักษาสูง ยาจะช่วยให้เด็กมีสมาธิดีขึ้น ซนน้อยลง ดูสงบลง มีความสามารถในการควบคุมตัวเองดีขึ้นและอาจช่วยให้ผลการเรียนดีขึ้น ผลที่ตามมาเมื่อเด็กได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี คือ เด็กจะมีความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง(self-esteem) เพิ่มขึ้นและมีความสัมพันธ์กับเพื่อนหรือคนรอบข้างดีขึ้น

ยาเข้าไปทำอะไรกับสมองของเด็ก

พ่อแม่และครูหลายท่านมีความเข้าใจผิดคิดว่า ยาที่แพทย์ใช้ในการรักษาเด็กสมาธิสั้นออกฤทธิ์โดยการไป "บีบ" หรือ "กด" สมองเพื่อให้เด็กนิ่งขึ้นหรือซนน้อยลง ดังนั้นความรู้สึกแรกที่เกิดขึ้นกับพ่อแม่เมื่อแพทย์บอกว่าเด็กควรจะได้รับการรักษาด้วยยาคือ วิตกกังวล ลังเลไม่แน่ใจ ไม่อยากให้เด็กรับประทานยา จริงๆแล้วยาจะออกฤทธิ์โดยการไป "กระตุ้น" เซลล์สมองให้หลั่งสารเคมีธรรมชาติ(ตัวที่เด็กมีน้อยกว่าเด็กปกติ) ออกมามากขึ้นในระดับที่เด็กปกติควรจะมี สารเคมีตัวนี้เป็นตัวที่ช่วยให้เด็กสามารถควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น มีสมาธิยาวนานขึ้น เรียนหนังสือได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผลข้างเคียงของยามีอะไรบ้าง

ผลข้างเคียงของยาในกลุ่มนี้ที่พบบ่อย ได้แก่ อาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ปวดท้อง และอารมณ์ขึ้นลง หงุดหงิดง่าย ใจน้อย เจ้าน้ำตา อาการข้างเคียงเหล่านี้มักจะไม่รุนแรงและหายไปเองเมื่อเด็กรับประทานยาติดต่อกันไปสักระยะหนึ่ง

หากเด็กมีอาการเบื่ออาหารมากหลังจากรับประทานยาจะทำอย่างไร

เด็กบางรายอาจจะมีอาการเบื่ออาหารระหว่างที่ยากำลังออกฤทธิ์ ดังนั้นจึงควรให้เด็กรับประทานอาหารให้เรียบร้อยก่อนให้รับประทานยา โดยปกติแล้วความอยากอาหารจะกลับเป็นปกติ(หรือมากกว่าปกติในบางราย)เมื่อยาหมดฤทธิ์ จึงไม่แปลกที่เด็กบางคนบ่นว่าหิวหรืออาจจะร้องขอรับประทานอาหารเมื่อใกล้เวลาจะเข้านอน พ่อแม่ควรอนุญาตให้เด็กรับประทานอาหารได้ทุกเวลาที่เขาต้องการแม้จะเป็นตอนค่ำ เพื่อชดเชยกับมื้อเช้าหรือมื้อเที่ยงที่เด็กอาจจะรับประทานอาหารไม่ได้มาก มีเด็กเพียงไม่กี่รายที่อาการเบื่ออาหารมีมากจนแพทย์ต้องลดขนาดยาให้น้อยลงหรือให้อาหารเสริม ในบางรายแพทย์อาจให้ยากระตุ้นให้อยากอาหารร่วมด้วย

มีคนบอกว่าเด็กกินยาแล้วจะ "ซึม" จริงหรือไม่

เด็กสมาธิสั้นที่ตอบสนองดีต่อการรักษาด้วยยาอาจจะดูนิ่ง สงบ เงียบ เรียบร้อยผิดจากเดิมไปมาก จึงมักทำให้พ่อแม่ หรือคุณครูที่คุ้นเคยกับอาการซน เสียงดังและความวุ่นวายของเด็กเกิดความประหลาดใจปนกับความกังวลว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเด็ก หลายคนเหมาเอาว่าเด็ก "ซึม" จากยา แต่ในความเป็นจริงเด็กเพียงแต่มีอาการ "สงบ" เหมือนพฤติกรรมของเด็กปกติทั่วไป เด็กจะมีอาการ "ซึม" เกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้รับยาในขนาดที่สูงเกินไปเท่านั้น

วิธีแยกระหว่างอาการ "ซึม" กับ "สงบ" ให้สังเกตสมาธิและความสามารถในการคิดของเด็ก โดยระหว่างที่เด็กมีอาการ "ซึม" เด็กจะไม่สามารถใช้สมองหรือคิดอะไรไม่ออก เวลาถามอะไรก็ไม่ตอบหรือตอบไม่ได้ แต่ระหว่างที่เด็ก "สงบ" เด็กจะกระตือรือร้นหากมีการนำงานมาให้เด็กทำหรือคิด เด็กจะตอบได้ไวและถูกต้อง ดังนั้นพ่อแม่จึงควรสังเกตและแยกให้ได้ว่าจริงๆแล้วเด็กรับประทานยาแล้ว "ซึม" หรือ "สงบ" กันแน่ ก่อนที่จะเหมาเอาว่าเด็กรับประทานยาแล้ว "ซึม"

มารู้จักและช่วยเด็กสมาธิสั้นกันเถอะ ตอนที่ 1

มารู้จักและช่วยเด็กสมาธิสั้นกันเถอะ ตอนที่ 3

 

ความรู้อื่นๆ ที่น่าสนใจ

7 ข้อแนะนำสำหรับขาแรงก่อนลงแข่งขันวิ่งระยะไกล

7 ข้อแนะนำเตรียมความพร้อมก่อนเข้าร่วมการแข่งขันวิ่งระยะไกล เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้าแข่งขัน

อริสโตเติล

นักธรรมชาติวิทยาคนแรกของโลก

วิลเลี่ยม ฮาร์วี่

นายแพทย์ชาวอังกฤษผู้ใช้เวลากว่า 10 ปีในการศึกษาระบบการไหลเวียนโลหิตในร่างกายว่าทำงานอย่างไร

ภาวะ "คลอดก่อนกำหนด"

เนื่องจากภาวะคลอดก่อนกำหนดจะทำให้ร่างกายของเด็กที่คลอดออกมายังไม่พร้อมต่อการเผชิญสภาพแวดล้อมภายนอก จึงต้องมีการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกงูกัด

เมื่อถูกงูกัด ควรตั้งสติให้ดีและปฐมพยาบาลให้ถูกต้อง เพื่อให้พิษส่งผลกระทบกับผูถูกกัดน้อยที่สุด และสามารถนำส่งแพทย์ได้ทัน

ทำอย่างไร...ห่างไกลสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อมนั้นถือว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ภาวะปกติของผู้สูงอายุ สาเหตุเกิดจากลักษณะการใช้ชีวิตในแต่ละวันของคนเราว่าจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้หรือไม่ จึงควรรู้ถึงสาเหตุและวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสมองเสื่อม